วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ข่าว ; สัตวแพทย์ มช. นำองค์ความรู้ตรวจท้องช้างเผือก ณ เมียนม่าร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์การศึกษาและวิจัยช้าง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Professional Strategies to Improve Elephant Management in Myanmar ณ เมืองตองอู สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ ระหว่างวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2555 โดยเป็นการฝึกอบรมให้แก่ สัตวแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับช้างในประเทศสาธารณรัฐเมียนม่าร์ หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมฯ ทางรัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ ได้เชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม ไปตรวจท้องช้างเผือก ชื่อ “พังเหมมาวดี” ณ กรุงเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555
ช้างเผือก “พังเหมมาวดี” อายุประมาณ 16 ปี เป็นช้างที่ถูกจับมาจากป่าเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ซึ่ง ณ เวลานั้นทางรัฐบาลสันนิษฐานว่าช้างตั้งท้องแต่ไม่ได้รับการยืนยัน ในการตรวจท้องช้างเผือกนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม ได้ใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ตรวจผ่านทาง ทวารหนักและพบเมือกเป็นก้อนอุดอยู่ที่บริเวณปากช่องคลอด (vaginal mucous plug) ซึ่งเป็นลักษณะ อย่างหนึ่งของช้างท้อง ประกอบกับเต้านมที่ขยายมากขึ้นและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้สามารถ ยืนยันได้ถึงการตั้งท้อง อนึ่งช้างปกติจะตั้งท้องนานประมาณ 19-23 เดือน โดยที่พังเหมมาวดีถูกจับมา แล้วเป็นเวลา 1 ปี ดังนั้นคาดว่าอีกไม่เกิน 10 เดือน คงทราบผลว่าลูกช้างที่คลอดออกมาจะเป็นช้างเผือก หรือช้างธรรมดาและเพศอะไร การตรวจท้องช้างนั้นไม่สามารถใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ตรวจผ่านผิวหนัง ได้เหมือนในคนและสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว เนื่องจากลักษณะผิวหนังของช้างที่หนาถึง 3 เซนติเมตร และตัวลูกที่ลึกจนความแรงของคลื่นเสียงไปไม่ถึง ดังนั้นจึงต้องทำการตรวจท้องในช้าง ผ่านทางทวารหนักในช่วง 3-5 เดือนของการตั้งท้องจึงจะสามารถพบตัวอ่อนของลูกช้าง หากเลยกำหนด ดังกล่าว ตัวอ่อนและมดลูกจะขยายลึกไปในช่องท้องจนไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์
ในปัจจุบันสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ มีช้างเผือกจำนวน 8 ช้าง โดยเป็นช้างเผือกขาวจำนวน 7 ช้าง อยู่ที่เมืองย่างกุ้ง 2 ช้าง และที่กรุงเนย์ปิดอว์ 5 ช้าง ทั้งนี้มีช้างเผือกเพศเมียที่คลอดลูกออกมาเป็น ช้างเผือกเช่นเดียวกัน ตามหลักของคชศาสตร์ช้างสำคัญ คือ ช้างที่มีมงคลลักษณะครบ 7 ประการ อันได้แก่ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว อัณฑโกส (หนังหุ้มโคนอวัยวะเพศชาย) ขาวหรือคล้ายสีหม้อใหม่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น