All online

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; สถานการณ์ความเคลื่อนไหวด้านปริมาณและราคาสินค้าช่วงภาวะน้ำท่วม

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่จัดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบสถานการณ์และภาวะราคาสินค้าสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดปัญหาทางด้านราคา หรือเหตุการณ์สินค้าขาดตลาด

นางสาวปานจิตต์  พิศวง  พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคกลางของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ รวมทั้งระบบการขนส่งสินค้าทางบกต้องชะลอตัว ทำให้ประชาชนอาจเกิดความตื่นตระหนกในการซื้อสินค้ามากักตุนเกินความจำเป็น และอาจนำไปสู่การขาดแคลนสินค้า  ดังนั้น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่จึงได้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจสอบสถานการณ์และภาวะราคาสินค้าที่สำคัญของจังหวัดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวด้านปริมาณและราคา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดปัญหาทางด้านราคา หรือเหตุการณ์สินค้าขาดตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันพืช กระดาษชำระ ข้าวสาร ไข่ไก่ เนื้อสุกรชำแหละ เป็นต้น

พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลการสำรวจพบว่าสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ในภาวะการค้าคล่องตัว ประชาชนในพื้นที่สามารถซื้อสินค้าได้ตามปกติ ไม่มีการตื่นตัวหรือการกักตุนสินค้า การจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้า ยังคงมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน มีการจำกัดปริมาณการซื้อสินค้าบางรายการ เช่น น้ำมันพืช น้ำตาลทราย น้ำดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้มีสินค้าบางชนิดเริ่มมีปริมาณจำหน่ายน้อยลง เช่น น้ำดื่มบรรจุขวดบางยี่ห้อ น้ำตาลทราย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมผง เนื่องจากมีประชาชนซื้อไปเพื่อส่งไปบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลาง ประกอบกับการนำเข้ามาในจังหวัดลดลง เนื่องจากโรงงานผู้ผลิตภาคกลางได้รับผลกระทบโดยตรง รวมทั้งปัญหาการขนส่งเป็นหลัก

สำหรับสถานการณ์ด้านราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ อาทิ เนื้อสุกร ผักสด น้ำมันพืช และน้ำตาลทราย ยังคงอยู่ในภาวะปกติ ปริมาณสินค้าที่จำหน่ายมีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ยกเว้น ราคาข้าวสาร และไข่ไก่ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามภาวะตลาด

พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงไม่มีโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน มีโรงงานผลิตสินค้า จำนวน 87 โรงงาน สินค้าที่ผลิตมี 9 ประเภท โดยสินค้าหลัก คือ อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ จึงอาจเกิดผลกระทบต่อการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด หากโรงงานผู้ผลิตสินค้าในภาคกลางไม่สามารถทำการผลิตสินค้าได้ ประกอบกับกับการขนส่งทางบกยังไม่คล่องตัว

ในส่วนของน้ำดื่มบรรจุขวดชนิดไม่คืนขวดของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ตราสิงห์ ตราน้ำทิพย์ ตราเนสท์เล่  ขาดตลาด ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มในจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวน 335 แห่ง โดยบริษัทสาขาย่อยของผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ เช่น น้ำสิงห์ (อำเภอสารภี) บริษัทสำนักงานใหญ่แจ้งให้ชะลอการจำหน่ายลง โดยสำนักงานใหญ่จะเป็นผู้บริหารจัดการกระจายน้ำดื่มเอง สำหรับการผลิตน้ำดื่มของบริษัทรายอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขาดปัจจัยการผลิต (ขวดบรรจุ) อย่างไรก็ตามยังคงมีบริษัทรายย่อยในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 11 แห่ง สามารถผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดเพื่อการจำหน่ายได้ ได้แก่ บริษัท เอส แอล มาร์เก็ตติ้ง, โครงการน้ำดื่มทรายทอง, น้ำดื่มน้ำใจ, น้ำดื่มแสงจันทร์, น้ำดื่ม      ธารทิพย์, ร้านโชคชัยวอเตอร์ทรีทเมนท์, ร้านลาวาริน, บริษัทเชียงใหม่โพลสตาร์, น้ำดื่มน้ำริน, น้ำดื่มเกษตรพัฒนา 999 และ น้ำดื่มพรีเมี่ยมโกลด์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น