ปัญหาหอยเชอรี่ระบาดยังไม่สามารถแก้ไขได้ เกษตรกรชาวเชียงใหม่ยังประสบปัญหาหอยทากจำนวนมากเข้ากัดกินพืชผลแม้กระทั่งกล้วยไม้ แนะเลี้ยงเป็ดไว้กินหอยและทุบหอยทำน้ำหมักซึ่งนับเป็นปุ๋ยชั้นหนึ่ง
ตามที่ได้มีการเสนอข่าวไปแล้วว่า หลังการเกิดอุทกภัยหลายรอบในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรกำลังหว่านกล้าและดำนา แล้วปรากฏว่ามีการระบาดของหอยเชอรี่มากับน้ำหลาก โดยเฉพาะที่ ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด หอยเชอรี่ได้ระบาดเกาะกินต้นกล้าและต้นข้าวที่เพิ่งปักดำจนอาจต้องหว่านกล้าปลูกใหม่ เกษตรกรวอนทางราชการเร่งช่วยเหลือ ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นช่วยได้เฉพาะยาปราบศัตรูพืช ซึ่งไม่สามารถจะต้านทานการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของหอยเชอรี่ได้ นอกจากนั้นนายสมาน ทัดเที่ยง แกนนำเกษตรกรได้แนะให้ท้องถิ่นเปิดรับซื้อหอยเชอรี่และไข่เพื่อทำลาย เป็นอาหารเป็ดหรือทำน้ำหมักชีวภาพซึ่งเป็นปุ๋ยชั้นดีนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ที่สำนักงานเกษตรอำเภอดอยสะเก็ด นางศรีพรรณ วิรัชเกษม เกษตรอำเภอดอยสะเก็ดเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วงฤดูหว่านกล้าและปักดำนาข้าวนั้นจะมีการระบาดของหอยเชอรี่เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว เดิมสำนักงานเกษตรอำเภอรับผิดชอบงบประมาณในการกำจัด แต่ต่อมาได้มีระเบียบใหม่ให้ถ่ายโอนภารกิจนี้ให้แก่ท้องถิ่น เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งอยู่ที่แต่ละตำบลจะลงไปตรวจสอบสถานการณ์และดำเนินการเอง ทั้งนี้สำหรับกรณีหอยเชอรี่นั้นมีแผนรณรงค์กำจัดอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ผู้บริหารของแต่ละท้องถิ่นว่าจะดำเนินการหรือไม่ เช่นที่ ต.สันปูเลย ทราบว่ามีการแจกยากำจัดหอยเชอรี่ บางตำบลมีการรณรงค์รับซื้อหอย ก.ก.ละ 3-5 บาท ไข่หอยเชอรี่ ก.ก.ละ 30 บาท นำไปบดทำลายให้เป็นอาหาร เป็ดและทำน้ำหมัก
“แต่บางตำบลก็ไม่ค่อยสนใจเกษตรกรกำลังประสบปัญหา จึงไม่ได้ช่วยเต็มที่ งบประมาณที่มีอยู่นำไปใช้ในการทัศนศึกษาดูงานกันส่วนใหญ่ เรื่องนี้จะรีบนำเสนอให้นายกเทศมนตรี และนายก อบต.ต่างๆ รีบช่วยเหลือด่วน โดยบ่ายวันนี้จะประชุมสรุปผลเรื่องความเสียหายจากอุทกภัยจะแจ้งให้ทุกตำบลทราบ” นางศรีพรรณกล่าว และว่า ขณะนี้ไม่เพียงแต่หอยเชอรี่ระบาดตามบ้านเรือนทั่วไป ยังมีหอยทากระบาด กัดกินพืชผล ไม้ดอกไม้ประดับ รวมทั้งบุกเข้าไปในครัวบ้านเกาะติดตามกระทะ ถ้วยชาม แก้วน้ำด้วย ซึ่งไม่ทราบว่าจะกำจัดอย่างไร นอกจากเก็บมารวมกันทำลาย หากฉีดพ่นยาก็จะเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม อีกทางที่แนะนำได้คือให้เลี้ยงเป็ดเทศ ซึ่งชอบกินหอยทากมาก ส่วนความเสียหายจากอุทกภัยทั้งสองรอบในเดือนสิงหาคม 2554 ของ อ.ดอยสะเก็ด นางศรีพรรณ วิรัชเกษม กล่าวว่ามี 12 ตำบล 42 หมู่บ้าน พืชผล ปศุสัตว์ ปลาในบ่อเสียหาย รวมเป็นมูลค่าประมาณ 720,000 บาท โดยจะสรุปผลในวันนี้รายงานจังหวัดเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
(ข่าว/ภาพ โดย บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น