All online

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; สั่งเข้มงวดห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา

จังหวัดเชียงใหม่สั่งทุกอำเภอห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ 2 วัน อาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา 15-16 ก.ค.54  ตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551 ฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย ขณะที่คณะสงฆ์ให้วัดสำรวจพระ เณร ชี และบุคคลไร้รากเหง้า หวั่นวัดไม่มีพระเณรจำพรรษา

งานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ปี 2554 คึกคักเป็นลำดับมา ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม เมื่อมีพิธีเปิดงาน พร้อมกับหล่อเทียนพรรษา และนำเทียนพรรษาไปถวายตามวัดต่างๆ ซึ่งปรากฏว่าแผนกสังฆภัณฑ์ตามห้างยักษ์ และร้านค้าสังฆภัณฑ์จำหน่ายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน เครื่องสังฆทาน และของทำบุญอย่างคึกคักนั้น สำหรับวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคมเป็นวันอาสาฬหบูชา และ 16 กรกฎาคมเป็นวันเข้าพรรษา ได้มีประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามโดยนายชูชาติ กีฬาแปง รอง ผวจ.เชียงใหม่ แจ้งถึงทุกนายอำเภอทุกอำเภอว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเรื่องกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ยกเว้นการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

หนังสือจังหวัดเชียงใหม่แจ้งให้อำเภอทุกอำเภอ ตรวจตรา กวดขัน สถานบริการ สถานบันเทิง ทุกประเภทและสถานที่อื่นๆ ในพื้นที่ (ยกเว้นการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม) ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันอาสาฬหบูชาที่ 15 กรกฎาคม และวันเข้าพรรษาที่ 16 กรกฎาคม รวม 2 วัน หากมีผู้ใดฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และรายงานให้จังหวัดทราบทันที

ทางด้านนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในวันอาสาฬหบูชา ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญตักบาตร รับศีล ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งทางจังหวัดได้แจ้งให้งดการออกอาชญาบัตร การชำแหละซากสัตว์ต่าง ๆ และห้ามไม่ให้จำหน่ายสุราของมึนเมาทุกชนิดไปแล้ว สำหรับพิธีเวียนเทียนของจังหวัดมี 4 แห่งคือ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดศรีโสดา (พระอารามหลวง) และวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ซึ่ง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผวจ.และรอง ผวจ.จะแยกกันเป็นประธานแต่ละวัดจึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ก่อนวันเข้าพรรษา คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ได้ให้เจ้าคณะตำบลทุกตำบลสำรวจข้อมูลบุคคลไร้รากเหง้า เช่น ภิกษุ สามเณร ชี ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีบุพการี ถูกทอดทิ้งแต่เยาว์ ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก รวมทั้งผู้เกิดในไทยหรืออาศัยอยู่ในไทยก่อน 14 มกราคม 2549 เท่านั้น โดยให้แจ้งเจ้าคณะอำเภอภายใน 15 กรกฎาคมนี้ ขณะที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดก็ให้ทุกวัดสำรวจจำนวนพระภิกษุสามเณรภาคกลางปี เข้าพรรษา ปี 2554 ส่งเจ้าคณะอำเภอภายใน 25 กรกฎาคมด้วย ส่วนจำนวนพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดในจังหวัดเชียงใหม่ที่เคยสำรวจไว้เมื่อปี 2552 มี 13,317 รูป/คน เป็นพระ 5,275 รูป สามเณร 6,570 รูป ศิษย์วัด 1,472 คน

สำหรับวัดในจังหวัดเชียงใหม่ สำรวจล่าสุด กันยายน 2553 แต่ละอำเภอมีดังนี้ อ.เมือง 123 วัด จอมทอง 47 วัด แม่แจ่ม 24 วัด เชียงดาว 35 วัด ดอยสะเก็ด 66 วัด แม่แตง 87 วัด แม่ริม 68 วัด สะเมิง 29 วัด ฝาง 70 วัด พร้าว 79 วัด สันป่าตอง 107 วัด สารภี 74 วัด สันกำแพง 67 วัด สันทราย 73 วัด หางดง 76 วัด ฮอด 32 วัด อมก๋อย 10 วัน แม่อาย 47 วัด ดอยเต่า 22 วัด เวียงแหง 14 วัด ไชยปราการ 29 วัด แม่วาง 34 วัด แม่ออน 25 วัด ดอยหล่อ 32 วัด และกัลยาณิวัฒนา 1 วัด ซึ่งการสำรวจพระภิกษุสามเณรที่อยู่จำพรรษาแต่ละวัดจะทราบใน 25 กรกฎาคมว่ามีวัดใดที่ไม่มีพระอยู่จำพรรษา ซึ่งปีก่อน ๆ มีหลายสิบวัดที่กลายเป็นวัดร้าง บางวัดมีเจ้าอาวาสรูปเดียว บางวัดมีสามเณรรูปเดียว เป็นต้น

(ขอบคุณข้อมูล บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ฺ หนังสือพิมพ์ ไทยนิวส์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น