All online

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดอบรมกลยุทธ์การสื่อสารการรณรงค์ ที่เชียงใหม่


มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดอบรมกลยุทธ์การสื่อสารการรณรงค์ สำหรับผู้สนใจในพื้นที่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสื่อสารแก่ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรสา ปานขาว ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นประธานเปิดการอบรมตามตามยุทธศาสตร์การบริการวิชาการแก่สังคม โดยจัดการอบรมหลักสูตร กลยุทธ์การสื่อสารการรณรงค์ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาทักษะการคิดกลยุทธ์การรณรงค์ สำหรับบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการสื่อสารหรือการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์การสื่อสารการรณรงค์ เพื่อเผยแพร่และพัฒนาทักษะการเขียนโครงการการสื่อสารการรณรงค์ เพื่อให้บริการความรู้ทางวิชาการแก่สังคม ตามนโยบายและพันธกิจของมหาวิทยาลัย และเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผู้เข้ารับเข้ารับการอบรมประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจทั่วไป 40 คน โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อ แนวคิดการสื่อสารการรณรงค์ การกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารการรณรงค์ การออกแบบสารเพื่อการสื่อสารการรณรงค์ การใช้สื่อและกิจกรรมเพื่อการสื่อสารการณรงค์ การเขียนและนำเสนอโครงการการสื่อสารการรณรงค์ และการประเมินผลการสื่อสารการรณรงค์

ทั้งนี้ จากการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอดีตที่ผ่านมา มักเป็นการสื่อสารที่ใช้สื่อและกิจกรรมแยกกัน ขาดการคิดประเด็นการสื่อสารที่โดดเด่นและชัดเจน ขาดการเชื่อมโยงการใช้สื่อแบบผสมผสาน และขาดการกำหนดและเชื่อมโยงประเด็นสารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดรวมถึงขาดการขับเคลื่อนแบบองคาพยพ ซึ่งอาจเนื่องมาจากขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสื่อสารในลักษณะของการสื่อสารการรณรงค์

การจัดทำแผนการสื่อสารในลักษณะของการสื่อสารการรณรงค์ เป็นการใช้แนวความคิดเดียวและมีการใช้สื่อแบบผสมผสานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารการรณรงค์สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการสื่อสารในหลากหลายสถานการณ์และรูปแบบ เช่น การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารการตลาด การสื่อสารสุขภาพ การสื่อสารทางการเมือง การสื่อสารการศึกษา การสื่อสารการกีฬา การสื่อสารวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การสื่อสารเพื่อการพัฒนา ซึ่งบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจมีทักษะและประสบการณ์อย่างแท้จริง จึงจะสามารถจัดการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น