ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; จังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวและ Tsunami ที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมให้คำแนะนำวิธีการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะกำลังเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า จากสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก รวมทั้งการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมาทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ พัดเข้าฝั่งสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน และมีผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมาก
ประเทศไทย ในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับญี่ปุ่นมานานกว่า 120 ปี รู้สึกมีความเศร้าเสียใจและเป็นห่วงในความเป็นอยู่ของประชาชนชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัยครั้งนี้เป็นอย่างมาก ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่นั้น เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาค ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เปิดบัญชีช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว ท่านที่มีความประสงค์จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย สามารถบริจาคเป็นเงินผ่านทางบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาข่วงสิงห์ ชื่อบัญชี“กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่” หมายเลขบัญชี 547-0-37532-3 พร้อมส่งสำเนาหลักฐานการโอนเงินมาทางโทรสารหมายเลข 0-5322-1470 ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์รับบริจาค โทรศัพท์0-532-21470 และ 0-5321-3551 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนั้น กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ จึงได้ประชาสัมพันธ์ถึงข้อปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากแผ่นดินไหว เป็นแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหว ประกอบด้วย
ก่อนการเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรจัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ถ่านไฟฉาย ไฟฉาย อุปกรณ์ดับเพลิง น้ำดื่ม น้ำใช้ อาหารแห้งไว้ใช้ในกรณีไฟฟ้าดับหรือกรณีฉุกเฉินอื่น ๆ
2. ควรจัดหาเครื่องรับวิทยุ ที่ใช้ถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่ สำหรับเปิดฟังข่าวสารคำเตือน คำแนะนำ
3. จัดเตรียมอุปกรณ์นิรภัย สำหรับช่วยชีวิต
4. จัดเตรียมยารักษาโรค และเวชภัณฑ์ให้พร้อมที่จะใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
5. ควรทราบตำแหน่งของวาล์ว เปิด-ปิดน้ำ ปิดแก็ส สะพานไฟ เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าและตัดตอนการส่งน้ำ
6. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูงๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้
7. ควรมีการวางแผนป้องกันภัยสำหรับครอบครัว ที่ทำงาน และสถานศึกษา เพื่อคล่องตัวในการปฏิบัติ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขณะเกิดแผ่นดินไหว
1. ให้ตั้งอยู่ในสติ อยู่ในที่ที่แข็งแรงปลอดภัย ห่างจากประตู หน้าต่าง สายไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งห้อยแขวน
2. ปฏิบัติตามคำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติของทางราชการอย่างเคร่งครัดไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป
3. ไม่ควรทำให้เกิดประกายไฟ เพราะหากมีการรั่วซึมของแก๊สหรือวัตถุไวไฟ อาจเกิดภัยพิบัติจาก
ไฟไหม้ ไฟลวก ซ้ำซ้อนกับแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอีก
4. ควรเปิดวิทยุรับฟังสถานการณ์ คำแนะนำคำเตือนต่าง ๆ จากทางราชการอย่างต่อเนื่อง
5. ถ้าอยู่ในอาคารสูงๆ ให้มุดเข้าใต้โต๊ะทำงาน อย่าวิ่งกลับออกไปภายนอก เพราะบันไดอาจพังลงและอย่างใช้ลิฟท์เพราะหากไฟฟ้าดับอาจมีอันตรายจากการติดอยู่ภายในลิฟท์
6. ถ้าอยู่ในอาคารและออกไม่ทันให้ระวังปูนซีเมนต์ อิฐ หรือชิ้นส่วนของอาคารร่วงหล่นทับ ให้อยู่ในส่วนของโครงสร้างอาคารที่แข็งแรง อย่าอยู่ใต้คาน หน้าต่าง กระจกและระเบียง ให้มุดอยู่ใต้โต๊ะ หรือใต้เตียง
7. ให้รีบออกจากอาคารเมื่อมีการสั่งการจากผู้ที่ควบคุมแผนป้องกันภัย หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้
8. หากอยู่ภายนอกอาคารให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้อาคารสูง กำแพง และเสาไฟฟ้า ให้อยู่ในที่โล่งแจ้ง
9. ถ้ากำลังขับรถหรือยู่ในรถ ให้หยุดและอยู่ในรถจนกระทั่งหยุดสั่นสะเทือน
10. หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง
หลังเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน
2. ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอาคารอาจพังทลายได้
3. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่น ๆ และสิ่งหักพังแทง
4. ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก็ส ถ้าแก็สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก็ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดหรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก็สรั่ว
5. ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาดและวัสดุที่สายไฟพาดถึง
6. เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉินอย่าใช้โทรศัพท์นอกจากจำเป็นจริง ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น