ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยข้อมูลที่แสดงว่า การขึ้นภาษีบุหรี่ไม่ได้ทำร้ายผู้สูบบุหรี่ที่เป็นคนจนอย่างที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้การวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยก่อนและหลังการขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตในปี พ.ศ.2548 และ 2549 ที่มีการขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตจากร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 79 ซึ่งมีผลทำให้ราคาบุหรี่ซิกาแรตขายปลีกเพิ่มขึ้นซองละ 10 บาท พบว่าทำให้ผู้สูบุบหรี่ร้อยละ 8 เลิกสูบ โดยผู้สูบบุหรี่ที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนการเลิกสูบและเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ยี่ห้อที่ถูกกว่า มากกว่ากลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่มีรายได้น้อย ในขณะที่ผู้สูบบุหรี่ที่มีรายได้น้อยเปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อบุหรี่ที่แบ่งขายเป็นมวน ๆ และเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ยาเส้นมวนเอง และส่วนหนึ่งเลิกสูบ โดยในภาพรวมคนที่มีรายได้น้อยไม่ได้มีการใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการขึ้นภาษีบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ฝ่ายที่กล่าวว่าการที่ขึ้นภาษีบุหรี่ทำร้ายคนจนตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า คนจนที่สูบบุหรี่ไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบเลยเวลาบุหรี่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง กลุ่มที่ไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่เมื่อมีการขึ้นภาษี คือกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่มีรายได้ปานกลางและสูง เนื่องจากค่าใช้จ่ายซื้อบุหรี่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย แม้หลังการขึ้นภาษี คือส่วนใหญ่ยังคงสูบในจำนวนเท่าเดิมและยี่ห้อเดิม ซึ่งผู้สูบบุหรี่กลุ่มรายได้ปานกลางและสูงนี้เอง ที่ทำให้เวลาขึ้นภาษีรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น การวิจารณ์ว่าการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นการทำร้ายคนจนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อรัฐบาล อนึ่งข้อมูลในปี พ.ศ. 2552 พบว่า ความพยายามลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ของรัฐบาลไทยที่มีการขึ้นภาษีบุหรี่สิบครั้งเป็นมาตรการหลักในช่วงเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา ผู้สูบบุหรี่ที่อยู่ในกลุ่มประชากรที่จนที่สุด มีอัตราการเลิกสูบร้อยละ 32.8 นับเป็นอันดับสองรองจากอัตราการเลิกสูบ ร้อยละ 38.6 ในกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงสุด ขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง มีอัตราเลิกร้อยละ 25.6 รายได้ปานกลางเลิกสูบร้อยละ 24.1 และรายได้กลุ่มเกือบจนเลิกสูบร้อยละ 26.3 รัฐบาลจึงควรใช้นโยบายการขึ้นภาษีเพื่อการควบคุมยาสูบต่อไป ซึ่งผลสำคัญที่สุดของการขึ้นภาษี คือการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนตามที่ธนาคารโลกแนะนำด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น