หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

ข่าว ; ฝนและหนาวผิดฤดูทำเกษตรกรป่วน เพลี้ยกระโดดหลังขาวระบาดหนัก



ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; เพลี้ยกระโดดหลังขาวเริ่มระบาดในนาปรังบริเวณภาคเหนือเหลายพื้นที่ โดยที่เชียงใหม่พบแล้วหลายร้อยไร่ทำให้ข้าวเป็นหมันและแห้งตายซาก ในขณะที่ศูนย์วิจัยข้าวสันป่าตองรุดเข้าทำการตรวจสอบ พบว่ามีความเสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เตือนเกษตรกรอย่าใช้ปุ๋ยไนโตรเจนว่านเพิ่มเพราะจะทำให้ข้าวแห้งตาย


นายสถาพร กาญจนพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ (สันป่าตอง) เปิดเผยเมื่อบ่ายวันที่ 21 เมษายนว่า ขณะนี้บริเวณภาคเหนือได้เกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาว โดยพบในพื้นที่การทำข้าวนาปรังของจังหวัดเชียงใหม่หลายอำเภอ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ หลังจากที่ผ่านมามีฝนตกและอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ข้าวนาปรังที่เชียงใหม่พื้นที่กว่า 150,000 ไร่ บางส่วนปรับตัวไม่ทันจึงเริ่มมีใบสีเหลือง ทำให้เกษตรกรตกใจคิดว่าข้าวขาดปุ๋ย จึงพากันใช้ปุ๋ยไนโตรเจน (ยูเรีย 46-0-0) เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ข้าวที่กำลังออกรวงเหี่ยวเฉาและบางส่วนกลายเป็นหมัน ซึ่งก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ได้ออกประกาศเตือนเรื่องนี้ไปแล้ว แต่คาดว่าเกษตรกรหลายรายไม่ได้รับข้อมูล ล่าสุดเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าวได้ลงพื้นไปพบกับเกษตรกรที่แปลงนา โดยนายธนวน เงินถา เกษตรกร อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่เล่าว่า เห็นใบข้าวเหลืองจึงใช้ปุ๋ยยูเรียประมาณ 40 กก./ไร่ แบ่งหว่าน 3 ครั้ง มากกว่าอัตราที่กรมการข้าวแนะนำ คือให้แบ่งใส่ 2 ครั้งเท่านั้น คือ ครั้งที่ 1 สูตร 16-20-0 หรือ 16-16-8 อัตรา 25 - 35 กก./ไร่ ครั้งที่ 2 ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 10 - 15 กก./ไร่ ก็เพียงพอ


ในขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากเกษตรกรไม่ทราบว่า สาเหตุที่ต้นข้าวมีใบสีเหลือง และเจริญเติบโตช้า อันมีสาเหตุมาจากเพลี้ยกระโดดหลังขาว คิดว่าข้าวขาดปุ๋ยจึงนำปุ๋ยไนโตรเจนมาหว่านเพิ่ม ทำให้ต้นข้าวแห้งตายเป็นบริเวณกว้าง และพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวเกาะเต็มต้นข้าวแล้วจึงรู้สาเหตุ โดยเพลี้ยกระโดดหลังขาวที่ระบาดครั้งนี้เป็นคนละชนิดกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ระบาดในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางบางจังหวัดในขณะนี้เช่นกัน สาเหตุที่ทำให้เพลี้ยกระโดดหลังขาวระบาดเพราะเกษตรกรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนหรือปุ๋ยยูเรีย จึงขอให้เกษตรกรระงับการใช้ทันทีและปรึกษาเกษตรตำบล อำเภอหรือจังหวัด หรือที่ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ อ.สันป่าตอง โดยด่วน


นายสถาพร กาญจนพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้จากจุดที่ลงไปตรวจสอบพบพื้นที่เสียหายโดยสิ้นเชิง ประมาณ 2 ไร่ ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะระบาดไปยังแปลงข้างเคียงอีกประมาณ 100 ไร่ ส่วนพื้นที่อื่นยังไม่มีข้อมูลการระบาด แต่ขอให้เกษตรกรหมั่นออกตรวจดูแปลงนา ว่ามีเพลี้ยกระโดดหลังขาวเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงต้นข้าวหรือไม่ หากมีให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมการข้าวคือ ให้ระบายน้ำออกจากนาข้าว 3-4 วันช่วงที่พบแมลง ให้ควบคุมน้ำในนาพอดินเปียก 7-10 วันแล้วปล่อยน้ำขังทิ้งให้แห้งสลับกันจะลดเพลี้ยกระโดดได้ แต่หากมีการระบาดรุนแรงให้ใช้สารเคมีแต่ควรเลือกใช้คือ ระยะข้าวแตกกอ ใช้สารบลูโพเฟซิน 25 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตรพ่น ระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวง ให้พ่นสารไทอะมิโทแซม อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร งดการใช้สารที่จะทำให้เพลี้ยกระโดดแพร่ระบาด ทั้งนี้พื้นที่ที่ควรระวัง คือ พื้นที่ที่ต้นข้าวอยู่ในระยะแตกกอ และระยะออกดอก หากตรวจพบเพลี้ยกระโดดหลังขาว ในระดับมากกว่า 10 ตัว/ต้น ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมการข้าว ส่วนพื้นที่ที่ต้นข้าวอยู่ในระยะโน้มรวง การใช้สารเคมีกำจัดจะไม่คุ้มกับการลงทุน


หมายเหตุ ข้อมูลการระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาว พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายสถาพร กาญจนพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ (สันป่าตอง)


เป็นคนละชนิดกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่ระบาดในภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางบางจังหวัด 


สาเหตุ
          1.เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน (ยูเรีย 46-0-0) มากเกินไป (รายของ นายธนวน เงินถา ใช้ประมาณ 40 กก./ไร่ แบ่งหว่าน 3 ครั้ง) อัตราที่กรมการข้าวแนะนำ แบ่งใส่ 2 ครั้ง
                   ครั้งที่ 1 สูตร 16-20-0 หรือ 16-16-8 อัตรา 25 - 35 กก./ไร่
                   ครั้งที่ 2 ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 10 - 15 กก./ไร่
          2. เกษตรกรไม่ทราบว่า สาเหตุที่ต้นข้าวมีใบสีเหลือง และเจริญเติบโตช้า เกิดจากเพลี้ยกระโดดหลังขาว คิดว่า ข้าวขาดปุ๋ย จึงนำปุ๋ยไนโตรเจนมาหว่านเพิ่ม จะทราบอีกทีเมื่อ ต้นข้าวแสดงอาการแห้งตายเป็นบริเวณกว้าง และพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวเกาะเต็มต้นข้าว 


ความเสียหาย
          1. พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง (จุดที่ไปดู) ประมาณ 2 ไร่ แนวโน้มจะระบาดไปพื้นที่แปลงข้างเคียง ประมาณ 100 ไร่
          2. ส่วนพื้นที่อื่น ยังไม่มีข้อมูล แต่ขอให้เกษตรกรหมั่นออกตรวจดูแปลงนาของตนเอง ว่ามีเพลี้ยกระโดดหลังขาวเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงต้นข้าวหรือไม่ หากมี ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมการข้าว
          3. พื้นที่ที่ควรระวัง คือ พื้นที่ที่ต้นข้าวอยู่ในระยะแตกกอ และระยะออกดอก หากตรวจพบเพลี้ยกระโดดหลังขาว ในระดับมากกว่า 10 ตัว/ต้น ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมการข้าว ส่วนพื้นที่ที่ต้นข้าวอยู่ในระยะโน้มรวง การใช้สารเคมีกำจัด ไม่คุ้มกับการลงทุน


(ขอบคุณข้อมูลจาก บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น