ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; กรมพัฒนาและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดประชุมแถลงผลการดำเนินงานและมอบเกียรติบัตรตามโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม โดยโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เขตภาคเหนือ ณ ศูนย์ประชุมโรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว มีนายประมวล จันทร์พงษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบเกียรติบัตรแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 27 แห่ง
สำหรับโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม โดยโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เขตภาคเหนือ เริ่มเปิดโครงการเมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2553 มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 27 แห่งประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร 10 แห่ง สิ่งทอ 1 แห่ง กระดาษ 2 แห่ง เคมี 2 แห่ง อโลหะ 2 แห่ง และอื่นๆ 1 แห่ง รวม 18 แห่ง ส่วนอาคารธุรกิจเป็นโรงพยาบาล 2 แห่งและโรงแรม 7 แห่ง วิธีการคือ นำผู้เกี่ยวข้องมาอบรมในจังหวัดหลักเป็นเวลา 2 วัน แล้วให้กลับไปดำเนินการในสถานประกอบการของตนเอง ซึ่งในระยะเวลา 1 ปีนี้ จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำพร้อมสาธิตในโรงงานแห่งละ 4 ครั้ง ซึ่งเป็นการสอนอย่างใกล้ชิดกับผู้รับผิดชอบในแต่ละโรงงาน ให้เกิดความรู้ความเข้าใจและทักษะอย่างชัดเจน
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานชี้แจงรายละเอียดกับทีมงาน ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ถึงการดำเนินงานตามโครงการนี้ว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้จัดเข้าหน้าที่เข้าไปช่วยดำเนินการกับโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ในปีงบประมาณ 2553 จำนวน 400 แห่ง เพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน เป็นการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งช่วยพัฒนาคนของโรงงานเหล่านั้นให้สามารถอนุรักษ์พลังงานด้วยตนเอง โดยการสาธิต การสอบ ทั้งการศึกษารูปแบบการดำเนินการ ด้านเทคโนโลยี โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับพนักงานทุกคนในสถานประกอบการมาช่วยกัน ซึ่งในส่วนของภาคเหนือจำนวน 27 แห่งนี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานลงได้รวมทั้งหมดเกือบ 10 ล้านบาท
สำหรับวิธีการคัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่กว่าแสนแห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการนั้น จะใช้วิธีคัดเอาเฉพาะสถานประกอบการที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 250,000 หน่วยต่อปีมาดำเนินการ ซึ่งมีกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา สามารถดำเนินการไปได้แล้วกว่า 2,000 แห่ง ยังเหลือประมาณ 1,000 กว่าแห่ง แต่ละปีก็จะประกาศเชิญชวนสถานประกอบการสมัครเข้ามา ซึ่งก็สามารถทำได้ปีละ 400 แห่งเนื่องจากงบประมาณจำกัด
ทางด้านเป้าหมายการในการลดการใช้พลังงานตามโครงการนั้น ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานบอกว่าอยู่ที่ ร้อยละ 10 ซึ่งทุกโรงงานที่เข้าร่วมโครงการก็สามารถทำได้ บางแห่งได้มากกว่า เนื่องจากปัญหาของแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมใหม่ก็ประหยัดได้น้อยเนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง ในขณะที่โรงงานที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปสามารถประหยัดได้มาก
“ความจริงการลดการใช้พลังงานในสถานประกอบการก็เหมือนการประหยัดในบ้าน เช่นปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น เปิด ปิดแอร์ตามความเหมาะสมหรือที่ไม่จำเป็น ก็สามารถลดการใช้พลังงานลงได้ส่วนหนึ่งแล้ว นอกจากนั้นคือการปิดการเดินเครื่องจักร การบำรุงรักษา หรือการล้างทำความสะอาด ให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เหล่านี้เป็นเงื่อนไขในการลดการใช้พลังงานได้แน่นอน” นายประมวลกล่าว และว่า ที่ผ่านมาตามโรงงานส่วนใหญ่มีเพียงช่างเท่านั้นที่ดำเนินการซึ่งบางโรงงานมีคนเดียว ไม่สามารถดูแลควบคุมการลดการใช้พลังงานได้อย่างทั่วถึง แต่การทำแบบมีส่วนร่วมนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนร่วมใจกันดูแลในส่วนที่ตนเองใช้พลังงานอยู่ ทุกคนจะรู้ว่าใช้อย่างไร ปรับปรุงแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด จุดไหนมีปัญหามีข้อบกพร่องใด คนทำงานเองจะเห็นอยู่ทุกวันว่าควรทำอย่างไร ดูแลรักษาอย่างไร ทำเองได้ก็ทำถ้าทำเองไม่ได้ก็แจ้งไปยังช่างเข้ามาทำการแก้ไข เหล่านี้นับเป็นการดำเนินการที่ได้ผลอย่างยั่งยืน ช่างไม่ต้องทำหรือรับผิดชอบดูแลแต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะบางครั้งจุดที่มีมีปัญหามานาน กว่าช่างจะเห็นหรือมีคนแจ้งบางนานนับเดือนที่เกิดการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ แต่ขณะนี้เมื่อคนทำเห็นเองก็จะแจ้งทันทีและได้รับการแก้ไขได้ทันที
ในส่วนของเงื่อนไขสถานประกอบการที่จะได้รับเกียรติบัตรหลังดำเนินการมา 1 ปี คือ ต้องลดได้ร้อยละ 10 และต้องลดได้อย่างน้อย 200,000 บาท โดยสถานประกอบการต้องดำเนินการเองและลงทุนลงแรงเองทั้งหมด กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเพียงแต่เข้าไปบอกวิธีการให้ และที่น่ายินดีคือสถานประกอบการบางแห่งสามารถลดได้กว่า 400,000 บาท
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกล่าวอีกว่า หัวใจสำคัญของความสำเร็จตามโครงการนี้คือ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับ เนื่องจากการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม คือต้องร่วมกันทุกเจ้าของสถานประกบการต้องมีความตั้งใจจริง ต้องตั้งคณะกรรมการดำเนินการโดยต้องมีทุกแผนกเข้าร่วม พร้อมประกาศตั้งเป้าหมายว่าจะลดการใช้พลังงานอย่างไร เท่าไร จากนั้นทุกคนก็จะทำหน้าที่ดูแลจุดใช้พลังงาน นำมาวางแผนปรับปรุงร่วมกัน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานก็ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงพร้อมติดตามการปฏิบัติงานเป็นระยะ บอกวิธี แนะแนวทางรวมทั้งการลงทุน ทั้งนี้ มีบางโรงงานเอาส่วนที่ลดได้มาเป็นสวัสดิการสำหรับพนักงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจ ให้เห็นผลของการประหยัดว่าดีกับทุกคน
ส่วนปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นคือ สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนมากจะอยู่ในอำเภอเล็กๆ และห่างไกล มีบุคลากรไม่ค่อยเก่งนัก เพราะคนที่เก่งหรือมีทักษะดีอยู่แล้วก็จะเข้าไปทำงานในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ในเมืองใหญ่ เมื่อคนไม่เก่งก็จะมีปัญหาอุปสรรคด้านการสื่อสาร ด้านการทำความเข้าใจ การรับรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการใช้อุปกรณ์ชั้นสูงก็ค่อนข้างข้างยาก แต่จากการสังเกตที่ผ่านมาทุกคนก็ตั้งใจและมีความพยายาม ซึ่งภาครัฐรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือเพราะอยู่ในสภาพที่ลำบากกว่าสถานประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งมีบุคลากรที่เก่ง มีเงินทุนมาก พนักงานมีความกระตือรือร้นเพราะมีรายได้ดีกว่า สวัสดิการดีกว่า และมีความก้าวหน้าต่างๆ ดีกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น