หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ข่าว ; “เอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปียนชิพ” พร้อมแข่งอมตะสปริง

3 ตุลาคม 2565 – การแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นรายการ “เอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ” หรือ “เอเอซี” เวทีประชันฝีมือของเหล่านักกอล์ฟระดับแถวหน้าของภูมิภาค หวนคืนสู่สนามอมตะสปริง คันทรีคลับ อีกครั้งในรอบ 10 ปี ชิงชัยระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคมนี้ หลังจากสนามแห่งนี้เคยจัดการแข่งขันที่น่าจดจำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์รายการเอเอซี เมื่อปี 2012 และเป็นรุ่นที่มีนักกอล์ฟก้าวไปประสบความสำเร็จในระดับอาชีพมากที่สุดรุ่นหนึ่ง

นักกอล์ฟจากเวทีการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ปี 2012 เป็นหนึ่งในกลุ่มนักกอล์ฟที่ประสบความสำเร็จในระดับอาชีพมากที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันรายการ เอเอซี ในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา โดยในการแข่งขันทั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมาต่างสร้างแชมเปี้ยนที่โดดเด่น แต่ผู้เล่นชุดปี 2012 ที่สนามอมตะสปริง คันทรี คลับ ได้สร้างมาตรฐานความสำเร็จในเวทีการแข่งขันระดับอาชีพ 

ในการแข่งขันครั้งนั้น ฮิเดกิ มัตซึยาม่า แชมป์สองสมัยปี 2010 และ 2011 จากญี่ปุ่น กลายเป็นดาวดังแล้วและเข้าร่วมชิงชัย โดยมีเป้าหมายคือการคว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกัน นอกจากนี้ยังมี คาเมรอน สมิธ จากออสเตรเลีย ซึ่งจบอันดับ 4 ในปี 2011 ตามหลังมัตซึยาม่า 3 สโตรก ลุ้นคว้าแชมป์สมัครเล่นรายการใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่ยกให้ โอลิเวอร์ กอสส์ จากออสเตรเลียเป็นตัวเต็งคว้าแชมป์ในปีนั้น แม้ยอมรับในฝีมือของ ฮิเดกิ มัตซึยาม่า และคาเมรอน สมิธ  

อูดายัน มาเน่  นักกอล์ฟจากอินเดีย เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า “แน่นอนว่า ฮิเดกิ มัตซึยาม่า คือสตาร์ดัง แต่ชื่อที่นักกอล์ฟทุกคนพูดถึงในปีนั้นคือ โอลิเวอร์ กอสส์”  

โดยมาเน่ กลายเป็น 1 ใน 3 นักกอล์ฟอินเดียที่ครองแชมป์ทำเงินรางวัลสูงสุดในทัวร์ระดับอาชีพของอินเดียจากทั้งหมด 6 คนที่ร่วมแข่งขันรายการเอเอซี ที่สนามอมตะปสริง คันทรีคลับ ในปี 2012 โดยจบผลงานด้วยอันดับ 33 ร่วม และครองตำแหน่งมือหนึ่งของทัวร์กอล์ฟอาชีพในอินเดีย หรือ PGTI OoM ปี 2021  ขณะที่คาลิน โจชิ จบอันดับ 14 ร่วมที่ประเทศไทยและคว้ารางวัล PGTI OoM ในปี 2018 ส่วน เอส ชิกคารันกัปป้า จบอันดับ 12 ร่วมในปี 2012  ครองแชมป์ PGTI OoM ในปี 2015

มาเน่ กล่าวเสริมอีกว่า “ผมไม่คิดว่าเราเคยได้ยินชื่อ กวน เทียนหลาง ระหว่างเตรียมตัวก่อนทัวร์นาเมนต์เปิดฉากแข่งขันที่ประเทศไทย และกลายเป็นเทียนหลาง ในวัย 14 ปีที่ผงาดคว้าแชมป์ไปครอง แม้ไม่ใช่นักกอล์ฟที่ตีไกล ถือเป็นบทเรียนที่ยอดเยี่ยมสำหรับพวกเราทุกคนที่ได้เรียนรู้ว่าสามารถลงเล่นและคว้าชัยชนะได้หลายวิธี”

สำหรับ โอลิเวอร์ กอสส์ จบการแข่งขันในสัปดาห์นั้นด้วยอันดับ 3 ตามหลัง กวน เทียนหลาง ที่คว้าแชมป์ 3 สโตรก และตามหลังอันดับ 2 ที.ซี.ปัน หรือ เฉิง ซุง ปัน จากไต้หวัน 2 สโตรก ฮิเดกิ มัตซึยาม่า เข้าป้ายอันดับ 4 ซึ่งเป็นการแข่งขันรายการเอเอซี ครั้งเดียวที่เจ้าตัวไม่ได้แชมป์ ขณะที่คาเมรอน สมิธ ปิดฉากอันดับ 7 ร่วมกับ เบร็ตต์ ดรูวิตต์ เพื่อนร่วมชาติชาวออสเตรเลีย ผู้เล่นพีจีเอทัวร์ในอนาคต 

ด้าน กวน เทียนหลาง หลังจากคว้าแชมป์เอเอซี ปี 2012 ที่อมตะสปริง คันทรี คลับ ได้ไปจารึกชื่อในการแข่งขันที่สนามออกัสต้า เนชันแนล กอล์ฟ คลับ ในฐานะนักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดที่ผ่านการตัดตัวในรายการ เดอะ มาสเตอร์ส ด้วยวัย 14 ปี ส่วนฮิเดกิ มัตซึยาม่า คว้าแชมป์มาสเตอร์ส ปี 2021 คาเมรอน สมิธ ผงาดครองแชมป์ดิ โอเพน ครั้งที่ 150 ณ สนามเซนต์แอนดรูวส์ ขณะที่ ที.ซี.ปัน ก็ได้แชมป์พีจีเอทัวร์ มาครอง และคว้าเหรียญทองแดงให้กับไต้หวันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังชนะในการดวลเพลย์ออฟ 7 คน ซึ่งรวมถึง ฮิเดกิ มัตซึยาม่า, รอรี่ แม็คอิลรอย และโคลิน โมริกาว่า

กวน เทียนหลาง เผยว่า “การคว้าแชมป์เอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ที่สนามอมตะสปริง เมื่อ 10 ปีก่อน คือหนึ่งความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาชีพนักกอล์ฟของผม ชัยชนะครั้งนั้น ทำให้ผมได้สิทธิ์รับเชิญร่วมแข่งขันระดับเมเจอร์รายการ มาสเตอร์ส และผ่านการตัดตัวสำเร็จ ซึ่งเปลี่ยนชีวิตผมในหลายด้าน ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจในการเล่นกอล์ฟในระดับสูงขึ้น” 

โดยในการแข่งขันครั้งนั้น กวน เทียนหลาง ตีประคองตัวในสองวันสุดท้ายด้วยสกอร์ 72 และ 71 เพียงพอต่อการคว้าชัยเหนือ ที.ซี.ปัน ที่ฟอร์มฮอตรอบสุดท้ายตี 65 เจ้าตัวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ในปีนี้ การแข่งขันรายการเอเอซี หวนคืนสู่สนามอมตะสปริง อีกครั้ง หลังผ่านไป 10 ปี และผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นนักกอล์ฟเพื่อนร่วมชาติจากจีน ทำผลงานได้ดีและคว้าแชมป์กลับบ้านเกิดได้สำเร็จ”  

สิ่งสำคัญที่จะทำให้การแข่งขันน่าจดจำ คือสนามที่ยอดเยี่ยมและท้าทาย ซึ่งสนามอมตะสปริง คันทรี คลับ พาร์ 72 ถือเป็นสนามกอล์ฟระดับโลกที่ท้าทายและเป็นบททดสอบสำหรับนักกอล์ฟ โดยเฉพาะหลุมซิกเนเจอร์ อย่างหลุม 17 พาร์ 3 ระยะ 150 หลา บนกรีนลอยน้ำ ที่ต้องนั่งเรือข้ามไป เป็นหนึ่งในสุดยอดหลุมมหัศจรรย์ที่สุดในเอเชีย 

มร.ไมค์ แม็คเคนนา ผู้จัดการทั่วไปสนามอมตะสปริงคันทรีคลับ กล่าวว่า “อมตะสปริง คันทรี คลับ เป็นสนามกอล์ฟระดับแชมเปี้ยนชิพที่จะเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับนักกอล์ฟที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นการแนะนำผู้เข้าแข่งขันสู่สนามระดับแชมเปี้ยนชิพและเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ระดับอาชีพด้วยมาตรฐานสนามกอล์ฟที่พวกเขาจะต้องสร้างความคุ้นเคยหากเทิร์นโปรเป็นนักกอล์ฟอาชีพ สิ่งสำคัญคือการพัตต์ปิดเกม และสามารถอ่านไลน์บนกรีนได้ดี สนามมีความยาวเพียงพอสำหรับทดสอบพวกเขา แต่สุดท้ายการลุ้นแชมป์มักตัดสินด้วยเกมพัตต์”

ในการแข่งขันที่จะมีขึ้นปลายเดือนตุลาคมนี้จะมีแชมป์หน้าใหม่แน่นอน หลังจากที่ เคอิตะ นากาจิม่า แชมป์ปี 2021 ที่ดูไบ ตัดสินใจเทิร์นโปร์เป็นนักกอล์ฟอาชีพในเดือนนี้ โดยมีนักกอล์ฟ 120 คน จาก 40 ประเทศเข้าร่วมชิงชัย รวมถึง เหวินยี่ ติง เจ้าของแชมป์ยูเอส จูเนียร์ อเมเจอร์ จากจีน และ “ทีเค” รัชชานนท์ ฉันทนานุวัฒน์ มือสมัครเล่นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งเป็นมือวางอันดับสูงสุดในสนาม 

ทั้งนี้ “ทีเค” นักกอล์ฟวัย 15 ปีของไทย กลายเป็นที่จับตามองหลังจากสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ระดับอาชีพในเอเชียนทัวร์ รายการ ทรัสต์ กอล์ฟ เอเชียน มิกซ์ คัพ ซึ่งเป็นนักกอล์ฟชายอายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์ระดับทัวร์หลัก 

ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปียนชิพ

การแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2009 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเดอะมาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนต์ เดอะอาร์แอนด์เอ และสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก (เอพีจีซี)  เพื่อเป็นเวทีพัฒนานักกอล์ฟสมัครเล่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เป็นเวทีการแข่งขันประจำปีสำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นยอดฝีมือจาก 42 ประเทศสมาชิกของสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก โดยแชมป์รายการนี้จะได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขันในระดับเมเจอร์ รายการเดอะ มาสเตอร์ส 2023 ที่สนามออกัสต้า เนชั่นแนล กอล์ฟ คลับ และ ดิ โอเพ่น ครั้งที่ 151 ที่สนามรอยัล ลิเวอร์พูล ขณะที่รองแชมป์จะได้สิทธิ์ลงเล่นรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายเพื่อลุ้นตั๋วลุยศึก ดิ โอเพ่น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.blockdit.com/posts/633c061f1c659636157f9521

****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น