หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ข่าว ; NARIT ชวนดู Super Full Moon คืนอาสาฬหบูชา 13 ก.ค.นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เชิญร่วมกิจกรรมในคืนอาสาฬหบูชา 13 กรกฎาคม 2565 ด้วยการติดตามชม “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” มีขนาดปรากฏใหญ่และสว่างกว่าปกติเล็กน้อย เตรียมจัดสังเกตการณ์ 4 จุดหลักที่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. หรือ National Astronomical Research Institute of Thailand (NARIT) เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร ในเวลาประมาณ 16:09 น. และจะปรากฏเต็มดวงในคืนดังกล่าว ในช่วงหลังเที่ยงคืน เวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เกิดเป็นปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16% 

นายศุภฤกษ์กล่าวว่า ในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงเป็นอย่างยิ่ง ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่และสว่างกว่าปกติเล็กน้อย วันดังกล่าวดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.37 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับผู้ที่สนใจถ่ายภาพคืนดังกล่าวยังเหมาะแก่การถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยเฉพาะการถ่ายภาพด้วยเทคนิค “Moon illusion” ด้วยเลนส์เทเลโฟโต เป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า ทำให้เกิดภาพลวงตาเสมือนว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้โลกมาก ผู้สนใจสามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า 

"ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์" นายศุภฤกษ์กล่าว

ทั้งนี้ สดร. มีกำหนดจัดสังเกตการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ชวนดูดาวชมจันทร์ในคืนวันอาสาฬหบูชา 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ระหว่างเวลา 18:00 - 22:00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ https://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2022

พิเศษสุด สำหรับอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ สามารถร่วมชมดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีเคล้าเสียงดนตรีในสวน พร้อมฟัง Special Talk “เรื่องมหัศจรรย์ดวงจันทร์ของโลก” และชวนแต่งกายธีมญี่ปุ่นถ่ายภาพคู่กับ “อภิมหาดวงจันทร์ยักษ์” เฉลิมฉลองดวงจันทร์เต็มดวงและเทศกาลทานาบาตะในเดือนกรกฎาคม ผู้สนใจร่วมกิจกรรมดังกล่าวนี้ สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/NARIT-SuperFullMoon2022  พร้อมรับของที่ระลึก “แม่เหล็กดวงจันทร์” จำนวนจำกัด โดยเป็นการร่วมกิจกรรมฟรีเช่นกัน

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250 E-mail: pr@narit.or.th  Website : www.narit.or.th Facebook : www.facebook.com/NARITpage Twitter : @NARIT_Thailand,  Instagram : @narit_thailand Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โทร. 1313


**************

www.jupjib.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น