หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

รายงานพิเศษ ; กรมประชาสัมพันธ์แจงนโยบาย-มอบรางวัล ปชส./สวท.ดีเด่น


เมื่อวันที่ 10-11 มิถุนายน 2565 กรมประชาสัมพันธ์ โดยสำนักประชาสัมพันธ์เขต (สปข.3) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เตรียมพร้อมแห่งชาติ และแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัย” ที่โรงแรมกรีนเลครีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน และ นายแสงทอง อนันตภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 ร่วมกับทีมงานดำเนินการ โดยมีประชาสัมพันธ์จังหวัด , ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา หรือผู้แทน จาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พร้อมทั้งเครือข่ายเข้าร่วมงาน

การประชุมเชิงปฏิบัติการวันแรก เริ่มด้วยการบรรยายเรื่อง “เทคโนโลยีกับการบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤต” โดย ดร.ทศพร ดิษฐ์ศิริ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ต่อด้วยการบรรยาย “ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำหรับการประกอบกิจการกระจายเสียง เพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติราชการ” โดย ภญ.นัทธินี วัฒนวราสันติ์ เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ต่อด้วยการประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ JIC ในพื้นที่ภาคเหนือโดยทีมงานส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3

กิจกรรมในวันที่สอง มีการบรรยายเรื่อง “บทบาทของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤต” วิทยากรโดย นายรัชพล งามกระบวน นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ และ น.ส.ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3 (ข่าวสามมิติ) จากนั้น รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้มอบโล่รางวัลดีเด่น จากการประเมินผลงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย 10 สถานีใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ และภาคบ่ายมีการบรรยายเรื่อง “การฝึกซ้อมแผนสาธารณภัย และเตรียมความพร้อมในภาวะวิกฤต” จากทีมวิทยากรสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับผลการตัดสินรางวัลชนะเลิศ-รองชนะเลิศ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดดีเด่น และรองชนะเลิศใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของ สปข.3 ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับ 1 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน และรองชนะเลิศอันดับ 2 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน ส่วนสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยดีเด่นของภาคเหนือตอนบน ชนะเลิศได้แก่ สวท.พะเยา รองชนะเลิศอันดับ 1 สวท.ลำปาง และรองชนะเลิศอันดับ 2 สวท.ลำพูน ทั้งนี้ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ ดำเนินการประเมิน และคัดเลือกสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด (ส.ปชส.) ดีเด่น และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) ดีเด่น เป็นประจำทุกปี ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ เชียงราย เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน เพื่อมุ่งพัฒนาการให้บริการ ระบบการทำงาน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของ สวท. และ ส.ปชส. ในพื้นที่ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการกรมประชาสัมพันธ์ ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563 - 2565) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง ภายใต้หลักเกณฑ์การประกวด คือ หน่วยงานมีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์นโยบายสำคัญของรัฐบาลได้ผลอย่างจริงจัง คุ้มค่า เป็นธรรม เน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการดำเนินงานของหน่วยงาน มีการสร้าง พัฒนา และรักษาเครือข่ายประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังเป็นรูปธรรม

หลังจากมอบรางวัลและบันทึกภาพแล้ว นางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ให้นโยบาย โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมการประชุมโต๊ะข่าวทุกวัน อย่างน้อยวันละ 20 นาที เพื่อสื่อสาร ประเด็นทิศทางข่าว สถานการณ์ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รวมถึงปัญหา อุปสรรค ในการทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พร้อมเน้นว่า “อธิบดีอยากเห็นผลสัมฤทธิ์ โดยให้วางแผนทำงานร่วมกัน มาคุยกัน แม้คนขับรถก็มาคุยกัน เพื่อให้การสื่อสารจากส่วนกลางจะต้องลงไปถึงคนสุดท้ายของหน่วยงาน” และขอให้มีการวิเคราะห์ คลี่ประเด็น ในเรื่องสำคัญจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อสื่อสารสู่ประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้อย่างเข้าใจง่าย ๆ และเกิดประโยชน์ 

นางสุดฤทัย เลิศเกษม กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ถือเป็นหน่วยงานเดียวที่ได้เข้าร่วมประชุม ครม.ทุกครั้ง เพื่อนำข่าวสารไปประชาสัมพันธ์สู่ประชาชน กำลังคนของกรมมี 4 พันคน ทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง ปัจจุบันมีอัตราว่าง 92 อัตรา กำลังจัดการเรื่องการโอนย้าย การสอบบรรจุ ซึ่งจะดำเนินการ 25 อัตราก่อนในเร็ว ๆ นี้ สำหรับตำแหน่งประชาสัมพันธ์จังหวัดที่จะว่างลงสิ้นเดือนกันยายนปีนี้มี 18 จังหวัด ซึ่งได้จัดทำบัญชีจากการรับสมัครข้าราชการระดับอำนวยการต้นไว้แล้ว 100 กว่าราย และมีระดับอำนวยสูงว่าง 3 อัตรา ก็จะได้จากการขึ้นบัญชีไว้เช่นกัน จึงขอให้ร่วมกันทำงานในทางบวก อย่าท้อแท้ อย่าโพสต์อะไรด้วยความโกรธหากพลาดหวังจะได้รับ ฯลฯ 

นอกจากนั้น รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ย้ำว่า การจัดบรรยายเรื่องการสื่อสารภายใต้ภาวะวิกฤต และความเสี่ยงต่าง ๆ ก็เพื่อให้คนของกรมประชาสัมพันธ์มีความพร้อมในการรับสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ให้พร้อม จึงขอให้แต่ละหน่วยงานจัดทำคู่มือในภาวะวิกฤต ตั้งแต่ก่อนภัยเกิด ระหว่างการเกิดภัย และภายหลังการเกิดภัยพิบัติ เพื่อนำเสนอกรม ซึ่งจะพิจารณานำมาเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยงานในสังกัดต่อไป

  สำหรับ รางวัลสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดดีเด่นปีนี้ น.ส.ชนิสา ชมศิลป์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การที่ ส.ปชส.เชียงใหม่ รับรางวัล “ชนะเลิศ” ระดับภาคเป็นปีที่ 2 น้อง ๆทุกคนที่ร่วมทีม “มดงาน” ต่างดีใจมาก เพราะทุกคนกระตือรือร้นในการทำงานแบบไม่นึกถึง “วันหยุด” โดยติดตามคณะรัฐมนตรี/ปลัดกระทรวง/อธิบดีที่เดินทางมาประชุม/ตรวจราชการในพื้นที่ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรายงานข่าว และสื่อสารประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากภาครัฐสู่พี่น้องประชาชน-จากภาคประชาสังคมสู่ประชาชน ขณะเดียวกันก็ประสานการแถลงข่าว และการจัดเวทีต่าง ๆ รวมทั้งนำปัญหาจากประชาชนเพื่อเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกด้วย จึงขอขอบพระคุณผู้บริหารระดับเขตจนถึงกรมที่พิจารณามอบรางวัลเป็นขวัญและกำลังใจแก่ทีมมดงานต่อไป.


บุณย์ มหาฤทธิ์/รายงาน


**************

www.jupjib.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น