หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ข่าว ; เปิดห้องฉุกเฉินแยกเชื้อแรงดันลบใหญ่สุดของไทย

คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดตัวห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ ( Negative Pressure Room for Emergency Department ) แห่งแรกในภาคเหนือ และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลดการแพร่กระจายของเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลาการทางการแพทย์และผู้ใช้บริการ

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวและนำเสนอ ห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยมีผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายวิวรรธน์ พงษ์เรืองเกียรติ และ นายธนวัช โพคะรัตน์ศิริ ตัวแทนกลุ่มวิศวกรอาสามหุภาคี

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID 19 ที่ขยายเป็นวงกว้างตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม คณะแพทยศาสตร์ มช.จึงได้ระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การตอบสนองต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก ให้ได้รับการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด จึงได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นเพื่อตอบสนองการระบาดอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว โดยได้ประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่า อาจจะมีผู้ป่วยที่เจ็บป่วยฉุกเฉินบางรายมีเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งเจ็บป่วยอาการหนักจากอุบัติเหตุหรือจากสาเหตุอื่นและมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมา หากผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อจะได้รับการแยกไปทำการรักษาที่ห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อของห้องฉุกเฉิน ในขณะที่ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีห้องลักษณะนี้เพียง 1 ห้องเท่านั้น เมื่อการระบาดของ COVID 19 ขยายวงกว้าง ก็จะส่งผลให้มีความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ติดเชื้อเข้ามาปะปนกับผู้ป่วยฉุกเฉินรายอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการพื้นที่ขณะที่มีการระบาดมีความชัดเจนและปลอดภัย จึงเป็นที่มาของโครงการร่วมกัน ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสมาคมศิษย์เก่า  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้นำองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ได้มาตรฐาน ประสบการณ์จากการทำงาน มาเป็นองค์ประกอบของการสร้างห้องฉุกเฉินความดันลบ โดยการบูรณาการร่วมกันของ 2 คณะ และ 1 สมาคม ทำให้เกิดห้องดังกล่าวขึ้น ใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 21 วัน ซึ่งนับได้ว่ารวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมาและสามารถใช้ได้ทันต่อเหตุการณ์ จากปกติการสร้างห้องความดันลบส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 5.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับจากการบริจาคจากผู้มีจิตเป็นกุศล ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก และยังมีการบริจาคเพิ่มเติมจากสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

สำหรับห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ (Negative Pressure Room for Emergency Department) เป็นห้องกักกันเชื้อที่มีระบบระบายอากาศแยกจากส่วนอื่นๆ สามารถบำบัดอากาศและฆ่าเชื้อโรคด้วย HEPA Filter + UVC และ Ozone ก่อนปล่อยออกสู่สาธารณะ โดยภายในพื้นที่ประกอบไปด้วย ห้องรักษาจำนวน 4 ห้อง และแต่ละห้องจะมีความดันเป็นลบ ทำให้อากาศจากภายในห้องไม่ไหลย้อนออกมาสู่ภายนอก เพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลาการทางการแพทย์และผู้ที่มาใช้บริการ และห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบนี้ ไม่ได้มีประโยชน์เพียงการป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 เท่านั้น แต่สามารถป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่นได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโรคเหล่านี้ยังมีการติดต่ออยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบแห่งนี้ ภายหลังการระบาดของของ COVID-19 สิ้นสุดลง ก็น่าจะเป็น New Normal ของห้องฉุกเฉินในอนาคต เพราะยังจะมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งโรคติดต่อทางเดินหายใจเดิมที่ยังคงรบกวนสุขภาพของประชาชนทั่วไปอยู่ในขณะนี้ ทำให้เราต้องมีสิ่งใหม่ๆเพื่อป้องกันการระบาดเกิดขึ้นในห้องฉุกเฉิน บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยและญาติก็มีความปลอดภัยอีกด้วย
นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแบบฉุกเฉินและอาการรุนแรง ไม่สามารถให้ประวัติที่ชัดเจนได้ ผู้ให้การักษาจำเป็นจะต้องตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า ผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะมีเชื้อ COVID-19 หรือโรคที่ร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งมีจำนวน 5-10 รายต่อวัน นับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย เมื่อมาถึงก็จะได้ใช้ห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบนี้ ทำการคัดกรอง รักษาเบื้องต้น ช่วยเหลือชีวิตให้อาการคงที่ แล้วจึงส่งต่อไปยังหอผู้ป่วยที่เหมาะสมซึ่งจะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อ ดังนั้น ห้องฉุกเฉินความดันลบจึงเป็นจุดบริการที่ผู้ป่วยใช้บริการไม่นาน ส่วนใหญ่ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อทำการช่วยชีวิตเบื้องต้น แต่ถ้าหากไม่มีห้องลักษณะนี้ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลปะปนกับผู้ป่วยอื่น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการกระจายโรค แพทย์ที่ทำงานในจุดนี้จะมีตั้งแต่แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินและแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ เช่น แพทย์โรคหัวใจ ปอด ICU แม้กระทั่งแพทย์อุบัติเหตุ ก็จำเป็นต้องใช้ห้องนี้เช่นกัน เนื่องจากในอนาคต หากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเป็นวงกว้างอีกครั้ง ผู้รักษาจะไม่ทราบได้ว่าจะมีผู้ป่วย COVID-19 ได้รับอุบัติเหตุแล้วต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน ดังนั้นการใช้ห้องนี้จึงมีประโยชน์ต่อแพทย์หลากหลายสาขาอย่างมาก

ต่อข้อถามที่ว่า ห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบนี้ จะสามารถเป็นต้นแบบสำหรับโรงพยาบาลอื่นทั่วประเทศที่จะนำไปปรับใช้ในการก่อสร้างได้หรือไม่นั้น คณะผู้จัดสร้างยืนยันว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ร่วมกันวางแผนและทำการก่อสร้างห้องนี้ ยินดีที่จะให้ข้อมูลกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ต้องการ อีกทั้งยังยินดีที่จะส่งบุคลากรที่มีประสบการณ์ไปร่วมงานทั้งให้คำปรึกษาและร่วมการก่อสร้าง เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลได้มีห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบลักษณะนี้ไว้ใช้ เพิ่มความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ แก่ผู้ป่วย และผู้รับบริการ ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลทราบว่า ที่นี่นอกจากจะใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคเหนือแล้ว น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งก็มีห้องลักษณะนี้ไว้ใช้งาน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นห้องขนาดเล็ก เทคโนโลยียังไม่สูงพอ และมีแห่งละห้องเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งาน โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดร้ายแรงอย่างช่วงเวลานี้

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเงินสมทบทุนผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกในโครงการ “เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19” โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053-938400 หรือสแกน คิวอาร์โคท บริจาคผ่าน Mobile Application หรือ บริจาคผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 468-069896-8 หรือบัญชี ธนาคารกรุงเทพ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 968-002053-5 ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น