หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563

ข่าว ; น่านยังปลอด COVID-19 ผลตรวจ 2 รายล่าสุดเป็นลบ

นพ.กฤตพงษ์ โรจนวิภาต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน ชี้แจงผ่านเฟสบุกของ โรงพยาบาลเวียงสา ถึงกรณีมีผู้ป่วยสงสัยว่าจะติดเชื้อ COVID-19 ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเวียงสา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 โดยยืนยันว่าผลจากการตรวจ ไม่พบเชื้อ COVID-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผู้ป่วยเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี ชาวตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เข้ารับการตรวจที่ โรงพยาบาลเวียงสา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 จากอาการไข้ หายใจเหนื่อย ร่วมกับมีประวัติเดินทางกลับมาจากจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 (ก่อนมีประกาศกรมควบคุมโรคให้แยกกักตัวผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในผู้เดินทางกลับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา) ทางโรงพยาบาลเวียงสา ได้รับไว้รักษาในห้องแยกโรคพิเศษ ในขณะนี้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น เหนื่อยลดลง ผลตรวจเอกซเรย์ปอดปกติ และตรวจยืนยัน "ไม่พบเชื้อ COVID-19" จึงขอชี้แจงให้ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องทราบ อย่างไรก็ตาม สำหรับทุกคนที่กลับจากพื้นที่เสี่ยง ขอให้แยกตัวอยู่ลำพังในเคหะสถาน ไม่ใช้ของ ไม่ใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่น และสังเกตอาการของตนเองทุกวันจนครบ 14 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุดด้วย

ในขณะที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อ.ปัว จ.น่าน ได้ออกประกาศผ่านทางเฟสบุกของทางโรงพยาบาล เมื่อเวลา 22.45 น.ของวันที่ 2 เมษายน 2563 ชี้แจงกรณีผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อ Covid-19 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 นั้น จากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าว "ไม่พบเชื้อ Covid-19"

สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 นั้น เป็นเพศชายวัยทำงาน เจ้าตัวระบุว่าได้เข้าตรวจที่โรงพยาบาลแล้วพบว่ามีไข้และเป็นปอดอักเสบ ประกอบกับก่อนนี้ได้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงคือ จ.ปทุมธานี โดยได้กักตัวอยู่กับบ้านมาแล้วเป็นเวลา 5 วัน แล้วมีอาการปวดเมื่อยตามตัวและเจ็บหน้าอก จึงได้ตัดสินใจเข้ารับการตรวจกับทางโรงพยาบาลและยืนยันแล้วว่า ไม่พบเชื้อ Covid-19 ดังกล่าว
ทั้งนี้ ปรากฏว่าได้มีการเผยแพร่ข่าวที่ไม่เป็นความจริง หรือ fake news ส่งต่อกันอยู่ในขณะนี้เกี่ยวกับสถานะการณ์ Covid-19 ของจังหวัดน่านนั้น แต่ละโรงพยาบาลได้ออกมาเตือนแล้วว่า ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก โดยขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องให้แน่ชัดจากสื่อที่เชื่อถือได้เสียก่อน ส่วนผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จนั้น อาจจะเข้าข่ายมีความผิด ตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และอาจจะมีความผิดตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 หรือ พรก.ฉุกเฉิน อีกด้วย

****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น