หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563

ข่าว ; เชียงใหม่สั่งปิด 28 กิจการ หลีกเลี่ยง COVID-19

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ออกคำสั่งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤติการณ์จากโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดให้ปิดสถานที่บางแห่งในจังหวัดเชียงใหม่เป็นการชั่วคราว เพื่อจำกัดการชุมนุมของประชาชนอันเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 อันเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ที่พบจำนวนผู้ป่วยขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การคมนาคม การท่องเที่ยว และมีความหนาแน่นของประชากรสูง มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วนั้น

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวันทำ ให้จำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเร่งด่วน ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ให้สถานที่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด แออัด เบียดเสียด ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ถือปฏิบัติตามคำสั่งฉบับที่ 2 โดยให้ยกเลิกคำสั่งฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น. ไปจนถึงวันที่ 13 เมษายน 2563 เวลา 24.00 น. ประกอบด้วย



1.ปิดสถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา
2.ปิดศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรศการ
3.ปิดพื้นที่บางส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือห้างร้านที่มีร้านค้าย่อยในอาคารหรือบริเวณเดียวกัน เว้นแต่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดเพื่อจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สำนักงาน ธนาคาร สำหรับร้านอาหารให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อการนำกลับไปบริโภคที่อื่น
4.ตลาด ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
5.ปิดตลาดถนนคนเดิน
6.ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น และร้านอาหารเครื่องดื่ม ในโรงแรมให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรมเท่านั้น
7.ปิดพื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม
8. ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ รวมถึงสถานที่มุ่งเน้นการขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดื่มกินในสถานที่และบริเวณนั้น เช่น ร้านเหล้าตอง
9.ปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ได้แก่ ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม
10.ปิดสถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร เว้นแต่การรักษาพยาบาลดังกล่าวในสถานพยาบาล
11.ปิดร้านเสริมสวย ร้านตัดผมหรือแต่งผม หรือตัดแต่งเล็บ
12.ปิดสถานที่บริการสักผิวหนังหรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
13.ปิดสถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม และสถานเสริมความงาม
14.ปิดสระว่ายน้ำ รวมถึงสระว่ายน้ำของหมู่บ้าน หรืออาคารชุดที่พักอาศัย
15.ปิดสถานที่ออกกำลังกาย หรือฟิตเนส
16.ปิดสถานที่เล่นสเก็ต หรือโรเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
17.ปิดเครื่องเล่นในอาคาร เครื่องเล่นภายนอกอาคาร เครื่องเล่นชั่วคราว สวนสนุก รวมถึงโซนอุปกรณ์เครื่องเล่นสำหรับเด็กเล่นในห้างสรรพสินค้า
18.ปิดร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต และตู้เกม หรือสถานที่อื่นใดที่มีการบริการลักษณะคล้ายกัน
19.ปิดร้านคาราโอเกะ
20.ปิดสถานประกอบกิจการโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร
21.ปิดศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา
22.ปิดสนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
23.ปิดสนามยิงปืน
24.ปิดบ่อตกปลา ตกกุ้ง หรือกิจกรรมใดในประเภทเดียวกัน
25.ปิดสนามกีฬาที่มีการสัมผัสร่างกายหรือใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น สนามฟุตซอล
26.ปิดโต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง
27.ปิดสนามมวย โรงเรียนสอนมวย ค่ายมวย โรงเรียนสอนหรือฝึกซ้อมศิลปะป้องกันตัว
28.ปิดสนามชนไก่ สนามประลองไก่ สนามม้า หรือสนามหรือพื้นที่การจัดให้สัตว์ต่อสู้กัน

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิ์โต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558



****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น