หน้าเว็บ

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข่าว ; โทรทัศน์ภาคพื้นดินดิจิทัลภูมิภาคพร้อมเดินหน้า

กสทช.ยืนยันโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับภูมิภาค ของกรมประชาสัมพันธ์ สามารถดำเนินการได้จริง แนะสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นที่นิยมของประชาชนเหมือนในอดีต พร้อมนำเสนอเนื้อหาเชิงลึกด้วยบุคลากรคุณภาพเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างสรรค์สังคม

วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 พล.ท. ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับภูมิภาค ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 โดยมี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นางพิชญา เมืองเนาว์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ภาคเหนือ และเครือข่ายภาคประชาชนให้การต้อนรับ พร้อมเชื่อมสัญญาณไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งได้ทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับภูมิภาค พร้อมกัน

พล.ท. ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กล่าว่า ขอชื่นชมกรมประชาสัมพันธ์ ที่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ทำให้ข่าวสารมีการกระจายมากกว่านำเสนอเพียงในส่วนกลาง ซึ่งภายใต้การนำของพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด ทำให้โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับภูมิภาคเกิดขึ้นได้จริง โดยแปลงแนวคิดนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งระบบดังกล่าวมีข้อดีคือมีผู้สนับสนุนมาก อย่างเช่นในสมัยก่อนที่เริ่มจากกิจการวิทยุ กรมประชาสัมพันธ์ มีประชาชนให้ความเชื่อถือ ยอมรับเป็นอย่างมากทั่วประเทศ กรมประชาสัมพันธ์จึงควรสร้างคนรุ่นใหม่ ให้ได้เหมือนคนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในอดีต เช่น คุณปรีชา ทรัพย์โสภา เพื่อให้เป็นบุคลากรหลักต่อไป
พลโท ดร.พีระพงษ์ กล่าวอีกว่า ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. อยากเห็นการจัดการภายในองค์กร ทั้งการจัดทำเนื้อหา ผังรายการ การโฆษณา การบริหารจัดการช่องภูมิภาคแต่ละช่อง ว่าจะมีรูปแบบอย่างไร และเมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว ก็ขอให้มีระบบ มีรายได้และมีแหล่งที่มา ในขณะที่การประเมินผลการรับชมนั้น กรมประชาสัมพันธ์ต้องไม่เอาไปเปรียบเทียบกับช่องปกติของเอกชน เพราะมีความแตกต่างกันโดยช่องของรัฐมีข้อจำกัดหลายประการ นอกจากนี้ ในด้านเนื้อหานั้น กสทช. ไม่เป็นห่วงเรื่องการผลิตข่าว แต่อยากให้เพิ่มความลึกของรายการโดยเฉพาะเรื่องที่จะสามารถคลี่คลายความไม่เข้าใจกันในสังคม  ต้องมีบุคลากรที่จะสามารถนำความคิดผู้คน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสังคมได้

ทั้งนี้ สำหรับโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับภูมิภาค ขณะนี้ทั้ง 4 ภาค อยู่ในระหว่างการทดลองออกอากาศ ระยะ 6 เดือน ในช่วงที่ 2 ซึ่งหาก กสทช. มีมติเห็นชอบ ก็จะเป็นโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับภูมิภาค ที่สามารถดำเนินการออกอากาศได้อย่างเต็มรูปแบบ และสามารถหารายได้จากการโฆษณา เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้ต่อไปด้วย
ในโอกาสนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ กสทช. ได้ลงพื้นที่ติดตามการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับภูมิภาค ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 โดยมี พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นางพิชญา เมืองเนาว์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นางระพีพร มีสอาด ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 นางพรรณี สัสดีแพง ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 4 พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ในสังกัดกรม ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ภาคเหนือให้การต้อนรับ พร้อมแสดงการเชื่อมสัญญาณไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ต่อด้วยการลงพื้นที่ติดตามผลการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับภูมิภาค ที่สถานีส่งสัญญาณแพร่ภาพ ณ ดอยสุเทพ โดยมีคณะผู้บริหารจากกรมประชาสัมพันธ์ และสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 ร่วมลงพื้นที่

****************
สผป.สปข.3-ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น