หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

ข่าว ; อาจารย์แพทย์ มช. 1 ใน 5 ทำงาน เอช.ไอ.วี ระดับโลก

อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 นักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ เพื่อทำงานด้านโรคติดเชื้อ เอช.ไอ.วี จากสมาคมโรคเอดส์สากล (The International AIDS Society) เนื่องในวัน International Day of Women and Girls in Science เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

อ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ และได้ทำงานที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ หน้าที่ความรับผิดชอบหลักคือ การเป็นอาจารย์แพทย์ที่รับผิดชอบงานสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก แพทย์ใช้ทุน และแพทย์ประจำบ้าน ที่ปฏิบัติงาน ณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รวมทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาทางด้านโรคติดเชื้อต่างๆ รวมถึงโรคติดเชื้อ เอชไอวี (เอดส์) นอกจากนี้ ยังมีความสนใจทางด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อเอชไอวีในเด็กและวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด โดยในปี พ.ศ. 2554 เคยได้รับพระราชทานทุน “มูลนิธิอานันทมหิดล” แผนกแพทยศาสตร์ ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ทางด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ (Infectious Disease Epidemiology) ณ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins เมือง Baltimore มลรัฐ Maryland ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในระหว่างที่ศึกษานั้น ได้มีโอกาสทำงานวิจัยเชิงลึกทางด้านโรคติดเชื้อเอชไอวีมากมาย โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่มิได้มีความเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อ (long-term,non-infectious complications)ในเด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวี ที่กำลังเจริญเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เช่น ภาวะมวลกระดูกเสื่อม ภาวะไขมันพอกตับ โรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มอาการทางเมตาบอลิก และภาวะไตบกพร่อง เป็นต้น รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในประชากรกลุ่มนี้ อีกทั้งยังได้มีโอกาสเข้าร่วมในการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อ เอชไอวี. จากมารดาสู่ทารก การศึกษาเภสัชจลศาสตร์ของยาต้านไวรัส รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาล้มเหลวและยาต้านไวรัสชนิดใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ดื้อยา และการให้วัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เหมาะสมในประชากรกลุ่มนี้

สำหรับแรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจในการทำงานด้านโรคติดเชื้อเอชไอวีในเด็กและวัยรุ่นนั้น เริ่มจากเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่ได้หมุนเวียนมาปฏิบัติงานที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีผู้ป่วยเด็กด้วยโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นจำนวนมากที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อนจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก เด็กเหล่านี้บางคนมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องด้วยในขณะนั้นการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวียังไม่ได้มีอย่างแพร่หลายเช่นปัจจุบัน รวมทั้งระบบการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีของประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้อย่างทั่วถึง ต่อมาเมื่อระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารก รวมทั้งการพัฒนายาต้านไวรัสชนิดใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคสูงขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาลดน้อยลงตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสมีแนวโน้มที่จะมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น  โดยสามารถเติบโตเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีในวัยเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสมีความก้าวหน้ามากขึ้น จึงได้สังเกตเห็นว่าเด็กและวัยรุ่นเหล่านี้ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวที่ไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ เช่น โรคกระดูกพรุน ภาวะไขมันพอกตับ โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะไตบกพร่อง ซึ่งอาจเป็นผลจากเชื้อไวรัสเอชไอวีเอง หรือผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสที่ได้รับมาตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากเด็กเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสตลอดชีวิตเพื่อรักษาปริมาณไวรัสในเลือดให้อยู่ในระดับต่ำ และช่วยให้ระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นปกติ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก จึงเป็นที่มาของความสนใจในการทำงานวิจัยทางด้านนี้ในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังว่าองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเหล่านี้จะช่วยหาแนวทางป้องกันและรักษาความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น และท้ายที่สุดจะสามารถช่วยให้เด็กและวัยรุ่นเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตดี ใกล้เคียงกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีได้ในอนาคต โดยผลงานวิจัยเหล่านี้บางส่วนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และบางส่วนได้ถูกนำไปเสนอในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลงานเหล่านี้ทำให้ตนเองได้รับรางวัลทางการวิจัยหลายรางวัลในช่วงเวลาที่ผ่านมา

"รู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากในงานที่ได้ทำมาทั้งหมด ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ จนกระทั่งเป็นอาจารย์แพทย์  ในฐานะนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทำงานวิจัย อยากแนะนำให้ผู้ที่เริ่มมีความสนใจในการทำงานวิจัยว่า อันดับแรกควร ถามตัวเองก่อนว่ามีความสนใจทางด้านไหน เพราะเมื่อเราได้ทำในสิ่งที่มีความสนใจ จะไม่รู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้ และจะมีกำลังใจในการทำงานอยู่ตลอดเวลา  อีกอย่างคืออย่ากลัวความล้มเหลว แต่ให้เรียนรู้จากประสบการณ์นั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต และประการที่สามคือ ควรมองหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา ข้อคิด และแนวทางปฏิบัติในระหว่างการทำงาน เหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยและองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้ในอนาคต" อ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ กล่าวในที่สุด

**********************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น