หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ข่าว ; ชวท.เชียงใหม่-ลำพูน จัดงานวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

ชมรมนักวิทยุโทรทัศน์เชียงใหม่-ลำพูน ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ ประจำปี 2561 โดยการทำบุญที่วัดศรีโสดาเพื่อความเป็นสิริมงคลและอุทิศส่วนกุศลแก่อดีตสมาชิกผู้วายชนม์

ผศ.อาคม ตันตระกูล ประธานชมรมนักวิทยุโทรทัศน์เชียงใหม่-ลำพูน พร้อมด้วย นายอินสม ปัญญาโสภา ประธานที่ปรึกษา และสมาชิกชมรมฯ รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติ ร่วมกันทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 9 รูป ณ วันศรีโสดา พระอารามหลวง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 เนื่องในโอกาสวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ 25 กุมภาพันธ์ ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งซึ่งในปีนี้ถือเป็นวันครบรอบ  88 ปี นับตั้งแต่ได้มีการกระจายเสียงทางสถานีวิทยุในประเทศไทย และที่ผ่านมา ชมรมนักวิทยุและโทรทัศน์เชียงใหม่-ลำพูนได้จัดกิจกรรมทำบุญเนื่องในโอกาสดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่สมาชิกและอุทิศส่วนกุศลให้กับสื่อมวลชนรวมทั้งะผู้เกี่ยวข้องในวงการนักวิทยุและโทรทัศน์ในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ที่ล่วงลับไปแล้ว

กิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 ด้วยพระดำริของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และโทรคมนาคม พระองค์ทรงดำริตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น เมื่อพ.ศ.2471 โดยสั่งเครื่องส่งกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง และให้อยู่ในความควบคุมของช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งสถานีที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ต.วัดราชบูรณะ ใช้ชื่อสถานีว่า "4 พีเจ" ต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ขึ้น ทำการทดลองที่ ต.ศาลาแดง ใช้ชื่อสถานีว่า "11 พีเจ" ซึ่งการใช้ชื่อสถานีว่า "พีเจ" ในยุคนั้นย่อมาจากคำว่า "บุรฉัตรไชยากร" อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” ตั้งอยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ พิธีเปิดสถานีกระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าไมโครโฟนถ่ายทอดไปตามสาย เข้าเครื่องส่งแล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกร นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย และทำให้กิจการวิทยุกระจายเสียงเจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงปัจจุบัน

******************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น