หน้าเว็บ

วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ ; ไทย-จีน บนแผ่นดินล้านนา ความสัมพันธ์ที่ยิ่งทวีความแนบแน่น

ไทย-จีน บนแผ่นดินล้านนา ความสัมพันธ์ที่ยิ่งทวีความแนบแน่น
ในปี พ.ศ.2560 นี้เป็นการครบรอบ 25 ปีแห่งการสร้างความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียน ขณะที่ราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้มีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา เทคโนโลยี และด้านความปลอดภัย สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศได้เป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ดินแดนทางภาคเหนือของไทยกับประเทศจีนก็มีความใกล้ชิดกันทั้งทางด้านภูมิประเทศและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน เหมือนว่าประชาชนมีสายเลือดเดียวกัน ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดินแดนที่แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมล้านนามากว่า 700 ปี และมีประวัติศาสตร์อันงดงามแห่งนี้ ได้ค่อยๆสร้างมนต์เสน่ห์ให้ชาวจีนได้รู้จักและหลงใหล โดยสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองโบราณของจังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 นับจนถึงปัจจุบันได้นานกว่า 2 ทศวรรษ ภายใต้กงสุลใหญ่ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่ทุกสมัย  ต่างก็มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั้งสองประเทศ ในการสร้างมิตรภาพอันดีต่อกัน ซึ่งพอสรุปพันธกิจสำคัญที่ได้ดำเนินการมาพอสังเขปดังนี้

ความสัมพันธ์ไทย-จีน
เชียงใหม่ เป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศไทย เป็นรองเพียงกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวงเท่านั้น เชียงใหม่จึงเปรียบเสมือนหยกมรกตที่สง่างาม เพราะมีอากาศบริสุทธิ์ สองข้างทางบนถนนทุกสายเรียงรายด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม อุดมด้วยวัดที่มีกลิ่นอายของอารยธรรมล้านนา และรอยยิ้มของหนุ่มสาวที่สวยงามอบอุ่น อาคันตุกะสามารถเดินทอดน่องไปตามตรอกซอกซอยในเขตเมืองโบราณ เพื่อชมนกชมไม้ ชมวัดวาอาราม โบราณสถานที่เปล่งแสงระยิบระยับโอบอุ้มกระทงใบตองขอพรสมดั่งปรารถนา ชื่นชมในความงามของดนตรีล้านนา ทำให้คนที่มาเยือนยากที่จะลืมเลือน
ปัจจุบัน เชียงใหม่ที่เคยหลับใหลไปในบางขณะกลับครึกครื้นมีชีวิตชีวา เมื่อมีชาวจีนจำนวนกว่าหนึ่งล้านคนเข้ามาเยือน นอกจากนั้น ในปี 2559 สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ ได้มีโอกาสต้อนรับคณะระดับรองรัฐมนตรีขึ้นไปกว่า 10 ครั้ง และคณะบุคคลสำคัญอื่นๆอีกกว่า 30 ครั้ง โดยได้ช่วยสนับสนุนส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ จากสถิติพบว่าในปี พ.ศ. 2559 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเชียงใหม่จำนวน 1,200,000 คน ซึ่งมากเป็นหนึ่งในสามของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด ปัจจุบันเชียงใหม่และจีน (รวมถึงฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน) ได้เปิดสายการบินตรงต่อกันมากถึง 12 สาย ดังนั้น ในทุกๆ วันจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาทางท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่กว่า 4,000 คน เชียงใหม่ได้รับเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เป็นเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวจีน การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนทำให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตภาคเหนือของไทยขึ้นเป็นอย่างมาก
สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับเชียงใหม่และหน่วยงานในเขตจังหวัดภาคเหนือของไทย โดยในปี 2559 ได้เชิญคณะผู้แทนจากตำรวจภูธรภาค 5  กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 และสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 พร้อมสื่อมวลชนเดินทางไปเยือนประเทศจีน เพื่อเพิ่มช่องทางในการติดต่อประสานงานให้กับองค์กรต่างๆของจีนและไทย และหลังจากนายเหริน ยี่เซิง ได้เข้าดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ก็ได้เข้าเยี่ยมคาราวะผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ผู้บัญชาการทหารบกที่ 33  ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 รวมทั้งได้เดินทางไปเยือนจังหวัดที่อยู่ในความดูแลครบทั้ง 12 จังหวัดคือ ตาก เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และสุโขทัย เพื่อพบปะพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือด้านต่างๆ และกงสุลใหญ่ฯ ยังได้เป็นตัวแทนชาวจีนเข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทางองค์กรภาครัฐได้จัดขึ้น เพื่อแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ภายใต้ความพยายามของสถานกงสุลใหญ่ฯ และการสนับสนุนขององค์กรต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้กงสุลใหญ่ฯ มีเพื่อนเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางและได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีเยี่ยม

การคุ้มครองและช่วยเหลือด้านกงสุลและกิจกรรมชาวจีนโพ้นทะเล
เมื่อมีประชากรชาวจีนเพิ่มมากขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ปริมาณงานของสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2559 ได้ทำวีซ่าให้กับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทยมากกว่า 16,000 คน จัดการคุ้มครองและช่วยเหลือด้านกงสุล 600 กรณี แต่สถานกงสุลใหญ่ฯ ก็จะยืนหยัดหลักการถือคนเป็นหลักและการทูตเพื่อประชาชน ร่วมมือกับตำรวจ สำนักตรวจคนเข้าเมือง สนามบินและองค์กรต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาวจีนในประเทศไทยภายใต้กฎหมายไทย สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ทำการประกาศเตือนเรื่องความปลอดภัยผ่านทางเว็บไซต์ แจกคู่มือเพื่อเพิ่มความตระหนักในด้านความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งในปี 2559 ได้เชิญผู้รู้ด้านภาษาจีนและภาษาไทยจำนวน 16 คนจากภาคเหนือของไทยมาเป็นผู้ประสานงาน เพื่อบริการให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนได้อย่างทันเวลา ครอบคลุมและรอบคอบ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือชาวจีนโพ้นทะเลในเขตจังหวัดภาคเหนือของไทยซึ่งมีกว่าสองล้านคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกจำนวนไม่น้อยที่มีเชื้อสายจีน
                นับตั้งแต่ นายเหริน ยี่เซิง ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ก็ได้ไปเยี่ยมเยือนและร่วมงานต่างๆของสมาคมชาวจีน อีกทั้งได้สร้างมิตรภาพอันลึกซึ้งกับหัวหน้าสมาคมและคณะอย่างทั่วถึง ในเวลาที่ได้ออกไปทำงานต่างจังหวัดเพื่อชาวจีน ก็เปรียบเสมือนได้นำความห่วงใยและการทักทายจากคนในบ้านเกิดเมืองนอนไปส่งมอบให้
ครั้นเมื่อเชียงใหม่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนธันวาคม แม้จะไม่หนาวถึงกับมีหิมะตกเหมือนทางภาคเหนือของจีน แต่ในเวลากลางคืนและเช้าตรู่อากาศจะหนาวเย็นมาก กงสุลใหญ่ฯ มีความห่วงใยชาวจีนที่อยู่บนยอดดอยสูง รวมทั้งประชาชนที่ขาดอาหารและเครื่องนุ่งห่ม จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิให้ความช่วยเหลือโดยมอบผ้าห่ม 600 ผืนและอาหารแห้ง เพื่อส่งความอบอุ่นและความห่วงใยไปยังชาวบ้านหลายร้อยหลังคาเรือน แม้ไม่สามารถใช้ภาษาจีนกล่าวคำขอบคุณ แต่สายตาของพวกเขาก็ทำให้รับรู้ได้ถึงความรู้สึกนั้น ประเทศจีนยังเป็นครอบครัวและเป็นที่พึ่งได้เสมอสำหรับชาวจีนทุกคน

การค้าและการร่วมมือทางเศรษฐกิจ
เมื่อถึงคราวเริ่มต้นฤดูกาลของทุเรียน ซุปเปอร์มาร์เก็ตในประเทศจีนก็ได้นำ ทุเรียนหมอนทองของไทยออกวางจำหน่ายอย่างละลานตา ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ ชาภูเขา หรือจะเป็นผลไม้ฤดูร้อน เช่น ลำไย มะม่วง ชมพู่  ก็จะสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป และไม่กี่ปีมานี้ หมอนหนุนยางพาราก็ได้เข้าไปตีตลาดที่จีนอย่างรวดเร็วและเป็นที่ชื่นชอบของหมู่วัยรุ่นจีนเป็นอย่างมาก ในขณะที่ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญ เป็นที่ผลิตข้าว ชา และลำไยชั้นดี ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากเห็นโอกาสทางธุรกิจและเดินทางมาเชียงใหม่เพื่อหาพันธมิตรทางการค้า สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ ได้รักษาความสัมพันธ์อันดีกับธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ติดตามนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของไทยอย่างใกล้ชิด แนะนำกฎระเบียบด้านการค้า การลงทุน และแรงงานให้กับนักลงทุนชาวจีน อีกทั้งยังให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาข้อพิพาททางการค้า โดยในปี 2559 สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไทย ที่จัดโดยความร่วมมือของสถานทูตจีนและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง การประชุมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าจัดโดยสมาคมจีนแคะและศูนย์ช่วยเหลือชาวจีน แนะนำการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน ประชาสัมพันธ์แนวความคิด หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในระดับภูมิภาค ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจีนในเขตภาคเหนือของไทย ดำเนินความร่วมมือในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์

การเรียนการสอนภาษาจีน
ก้าวแรกต่อเนื่องไปจากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ จะสัมผัสได้กับโฆษณาและป้ายที่เป็นภาษาจีน ตามร้านค้าจะมีพนักงานที่ใช้ภาษาจีนแนะนำสินค้า เวลารับประทานอาหารจะมีพนักงานแนะนำเมนูอาหารเป็นภาษาจีน แม้แต่บริการรถโดยสารสาธารณะก็จะเห็นคนขับรถใช้คำภาษาจีนง่ายๆในการต่อรองราคา ทุกวันนี้ การเรียนภาษาจีนเป็นที่นิยมในภาคเหนือของไทยเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น โรงเรียนระดับประถมและมัธยมก็ได้เปิดการเรียนการสอนภาษาจีนมากขึ้น ดังนั้น แม้จะมีอาจารย์ภาษาจีนและอาสาสมัครกว่า 400 คน ในภาคเหนือของไทยแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ สถานกงสุลใหญ่ฯ ให้ความสำคัญต่อการศึกษาภาษาจีนในต่างประเทศ และได้จัดค่ายประเทศจีนให้กับนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา สนับสนุนสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร้านหนังสือซินจือยูนนาน และมีการร่วมมือด้านห้องเรียนขงจื่อตามโรงเรียนต่างๆ จัดกิจกรรมวัฒนธรรมจีน ร่วมจัดงานส่งมอบหนังสือให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยื่นเรื่องขอสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนและครูคนจีนกว่า 150 คน ให้กับโรงเรียนกว่า 50 แห่ง
โรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เป็นโรงเรียนจีนชั้นนำในภาคเหนือของไทย สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาการศึกษา พร้อมได้เข้าเยี่ยมเยือนอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้นในภาคเหนือของไทยมีหมู่บ้านชาวจีนเป็นจำนวนมาก โรงเรียนในหมู่บ้านขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้ครูไม่พอต่อจำนวนนักเรียน ในปี 2559 สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เข้าไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านคนจีน บริจาคเงินให้กับโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ บริจาคโต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ และส่งมอบกระเป๋านักเรียนพร้อมเครื่องเขียนให้กับนักเรียนที่ยากจนเพื่อเป็นกำลังใจในการเรียน และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างมิตรภาพจีนไทยต่อไปในอนาคต ในทุกๆปีก็จะสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนจีนจัดกิจกรรมเทศกาลวัฒนธรรมจีน โดยในปีนี้ได้จัดให้ผู้อำนวยการโรงเรียนจีน 20 แห่ง ได้ไปดูงานที่ประเทศจีน เพื่อให้มีความมั่นใจในการพัฒนาการศึกษาและสร้างเครือข่ายมิตรภาพอันดีระหว่างองค์กร

วารสารและข่าวสาร
เพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในยุคสังคมออนไลน์ สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ ได้เปิดเว็บไซด์ 3 ภาษา ประกอบด้วยภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันต่อเหตุการณ์อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งกงสุลใหญ่ฯ ยังได้รับการสัมภาษณ์จากผู้สื่อข่าวของไทยหลายครั้งเพื่อถ่ายทอดมิตรภาพของคนจีน เพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของไทยและจีน เมื่อเดือนกันยายนปี 2559 สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เดินทางร่วมกับผู้แทนสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 และสื่อมวลชนในพื้นที่ภาคเหนือ ไปเยือนเขตปกครองตนเองกว่างซี มณฑลเจ้อเจียง และเมืองเซี่ยงไฮ้ สถานที่แรกคือเมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นแหล่งจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 13 ซุ้งได้รวมผู้นำอาเซียนของแต่ละประเทศ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตัวแทนนักธุรกิจ คณะผู้แทนได้เข้าร่วมพิธีเปิดงานและเข้าชมนิทรรศการ นวัตกรรม รวมทั้งส่วนจัดแสดงสินค้าทั้งของไทยและจีน เรียนรู้ข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ต่อจากนั้นไดเดินทางไปยังเมืองหางโจว ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกเนื่องจากมีการจัดการประชุม G20 คณะผู้แทนได้เดินทางไปเยือนทะเลสาบซีหู วัดหลิงหยิ่น ต่อด้วยเมืองอี้อู เมืองที่มีชื่อเสียงในด้านการขายส่งสินค้าระดับโลก รัฐบาลเมืองอี้อูได้จัดงานแถลงข่าวและแนะนำเมืองให้คณะผู้แทนจากไทยได้รู้จัก โดยผู้สื่อข่าวทุกคนได้ร่วมบันทึกข้อมูลและสนใจตั้งคำถามอย่างละเอียดและหลากหลายแง่มุม เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือทางด้านการค้าและการขนส่ง ตลอดระยะเวลา 7 วันกับ 4 เมือง กลุ่มสื่อมวลชนภาคเหนือได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนตามมุมมองที่ต่างกันออกไปผ่านเลนส์กล้องและตัวอักษร เพื่อถ่ายทอดมายังผู้คนในภาคเหนือของไทยอย่างหลากหลายและกว้างขวาง
ระยะเวลา 25 ปีช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว จากการที่สถานกงสุลจีนใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ ได้มาตั้งอยู่ข้างเมืองโบราณล้านนาแห่งนี้ ร่วมเป็นสักขีพยานให้กับเมืองเชียงใหม่ที่เคยเป็นเมืองลี้ลับสำหรับคนจีน ให้กลับกลายเป็นเมืองที่คับคั่งไปด้วยผู้คน กงสุลจีนทุกรุ่นที่ได้ผ่านการทำงานในดินแดนแห่งนี้ ได้สร้างมิตรภาพที่ลึกซึ้งกับชาวล้านนาจากรุ่นสู่รุ่น และมาถึงวันนี้พวกเราก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาครอบครัวไทยจีนให้สดใสรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้น และพัฒนามิตรภาพไทยจีนให้ยั่งยืนยาวนานตลอดไป


*************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น