หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข่าว ; หน.หน่วยศูนย์วิจัยโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ มช. คว้ารางวัลวิจัยระดับนานาชาติ

หัวหน้าหน่วยสรีรวิทยาระบบประสาท  ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำผลงานการศึกษาผลของการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นระยะเวลานาน และภาวะอ้วนต่อการเสื่อมถอยของการทำงานของสมองในด้านการเรียนรู้และความจำ รวมถึงการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินในสมอง คว้ารางวัล  2017 TRF-OHEC-Thomson Reuters Research Excellence สาขา Health Sciences  จัดโดย Thomson Reuter ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำฐานข้อมูลอ้างอิงสำหรับบทความและการนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติ ร่วมกับ สกว. และ สกอ. ถือเป็นเกียรติอันสูงส่งต่อนักวิจัยของประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.ทพญ. สิริพร ฉัตรทิพากร นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 และหัวหน้าหน่วยสรีรวิทยาระบบประสาท ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ (CERT Center) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัล 2017 TRF-OHEC-Thomson Reuters Research Excellence ในสาขา Health Sciences ซึ่งได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในงานประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 16 จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ณ โรงแรมเดอะ รีเจนท์ ชะอำบีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี โดยได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นผู้มอบรางวัล 2017 TRF-OHEC-Thomson Reuters Research Excellence Award ในสาขาต่าง ๆ จำนวน 5 สาขา ได้แก่ Life Sciences and Agricultural Sciences, Health Sciences, Engineering and Multidisciplinary Technology, Chemical and Pharmaceutical Science, Physical Sciences, และ Humanities and Social Sciences

สำหรับรางวัลดังกล่าวเป็นการมอบให้กับนักวิจัยที่มีผลงานดีเด่นในการรับทุนของฝ่ายวิชาการ สกว. โดยที่ Thomson Reuter ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำฐานข้อมูลอ้างอิงสำหรับบทความและการนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติ ได้ร่วมมือกับ สกว. และ สกอ. ในการมอบรางวัลนี้  ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นเกียรติอันสูงส่งต่อนักวิจัยของประเทศ เนื่องจากเป็นรางวัลที่มีการแข่งขันที่สูงมาก

สำหรับงานวิจัยที่ได้รับรางวัลของ ศาสตราจารย์ ดร.ทพญ. สิริพร ฉัตรทิพากร เป็นการศึกษาถึงผลของการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นระยะเวลานาน และภาวะอ้วนต่อการเสื่อมถอยของการทำงานของสมองในด้านการเรียนรู้และความจำ รวมถึงการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินในสมอง ซึ่งผลการวิจัยจากเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบในวงกว้างต่อวงการแพทย์และประชาชนทั่วไปในด้านความเข้าใจ รวมถึงแนวทางในการรักษาและป้องกันความเสียหายทางสมอง ในภาวะอ้วนจากการรับประทานอาหารไขมันสูงได้ต่อไปในอนาคต

************************
ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น