หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

ข่าว ; กงสุลจีนเชียงใหม่ยืนยัน ขุดลอกแม่น้ำโขงเห็นชอบทุกประเทศ ผลประโยชน์ร่วมกัน

ตามที่ได้มีโครงการการขุดลอกแม่น้ำโขงโดยภาครัฐของประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาในประเทศไทยเองก็ยังคงมีข้อถกเถียงกัน และเมื่อต้นเดือนมกราคม 2560 นี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในจังหวัดเชียงรายได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยระบุว่าโครงการขุดลอกแม่น้ำโขงจะทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะที่มีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาระบุว่าโครงการดังกล่าวจีนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่ประเทศไทยและลาวจะได้รับผลกระทบสูงที่สุดนั้น

นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่กล่าวว่า โครงการขุดลอกแม่น้ำโขงจะเกิดประโยชน์ต่อการคมนาคมทางน้ำระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และการพัฒนาพื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำ โดยแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำล้านช้าง ซึ่งมีความยาวรวม 4,880 กิโลเมตร รวมพื้นที่อนุภูมิภาคถึง 2.3 ล้านตารางกิโลเมตร ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีทั้งจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งทั้ง 6 ประเทศมีอาณาเขตเป็นพื้นที่ติดต่อกัน และในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีประชากรรวมกันประมาณ 250 ล้านคน ส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มีการใช้แม่น้ำโขงในการอุปโภคบริโภคร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นสายน้ำที่เชื่อมต่อวิถีชีวิตของคนในลุ่มแม่น้ำอีกด้วย ดังนั้น การก่อสร้างและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในด้านการดำเนินการความร่วมมือในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงทุกประเทศได้เห็นด้วย ที่จะดำเนินการขุดลอกทางน้ำระหว่างประเทศเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขของการคมนาคมทางน้ำ ตลอดจนลดอุบัติเหตุการเดินเรือให้น้อยลง และลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุบัติเหตุ ที่ผ่านมาโครงการในระยะแรกได้ประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ส่วนระยะที่สองนั้นอยู่ระหว่างเตรียมที่จะดำเนินการ สำหรับลุ่มแม่น้ำร่วมระหว่างไทย-ลาว การดำเนินโครงการนี้จะส่งเสริมและพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำ ที่ จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของกลุมประเทศ GMS เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรที่อยู่อาศัยทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงทุกประเทศอีกด้วย

กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ กล่าวถึงการให้ความเห็นชอบของประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่า ประเทศไทยนับว่ามีส่วนสำคัญในความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนโครงการขุดลอกแม่น้ำโขงและได้เรียกร้องให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหยุดการต่อต้านโครงการดังกล่าว โดยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย และเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิก รวมทั้งให้ความเห็นชอบการดำเนินงานเบื้องต้นในโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง คืองานศึกษา สำรวจ และออกแบบ โดยจะให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานปฏิบัติและประสานงานหลักในการดำเนินการตามแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ พ.ศ.2558-2568 และการดำเนินงานเบื้องต้นของโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงด้วย  ทั้งนี้ การประชุมในเดือนมกราคม 2560 จะมีการประชุมคณะกรรมการกรมการขนส่งทางน้ำ ครั้งที่ 15  ซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่เมืองมันฑะเลย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ฝ่ายไทยได้แถลงว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติการดำเนินงานเบื้องต้นในโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ระบุว่า งานขุดลอกจะดำเนินการตามข้อตกลงของทั้ง 6 ประเทศสองฟากฝั่งแม่น้ำล้านช้างและแม่น้ำโขง วัตถุประสงค์เพื่อขยายร่องน้ำสำหรับการเดินเรือ ให้สามารถเดินเรือที่มีนำหนักได้ถึง 500 ตันตลอดทั้งปี ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณและลดต้นทุนการขนส่ง อีกทั้ง เมื่อไม่นานมานี้ ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า การขุดลอกแม่น้ำโขงเป็นมติเอกฉันท์ของทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งไม่ใช่การกระทำของประเทศใดประเทศหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสื่อมวลชนบางสื่อรายงานข่าวว่า มีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่นบางกลุ่มของประเทศไทย มีความคิดเห็นแตกต่างกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าโครงการนี้จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศนั้น กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่กล่าวว่า การขุดลอกแม่น้ำโขงนั้นเป็นที่รู้กันดีกว่า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม นอกจากนั้นยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถช่วยลดหรือบรรเทาตะกอนของดินในร่องน้ำสำหรับใช้ในการเดินเรือ ปรับกระแสน้ำของแม่น้ำให้ดีขึ้น ในฤดูฝนก็เป็นการป้องกันไม่ให้ดินโคลนถล่ม ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งสองฟากฝั่ง ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระยะดำเนินการเริ่มต้น คือการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมารวมทั้งการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อได้ทำผลสรุปออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องนำผลการสรุปดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลทั้ง 4 ประเทศคือจีน ไทย ลาวและเมียนมา เพื่อยื่นขออนุมัติและเมื่อได้รับมติให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์แล้ว จึงจะเริ่มปฏิบัติงานตามขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

“ในช่วงการดำเนินการระยะหลังอาจจะมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ คือ ผู้รับผิดชอบของหน่วยงานจีนจะศึกษาลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อศึกษาและนำประสบการณ์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้กับต้นน้ำและปลายน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณโดยรอบของลุ่มแม่น้ำโขง อีกทั้งลดการก่อกวนในระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขง รวมถึงสัตว์ต่างๆในบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงให้น้อยที่สุด” กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่กล่าวในที่สุด

*สำหรับแม่น้ำโขง (Mekong River) มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านบริเวณที่ราบสูงทิเบตและมณฑลชิงไห่ ไหลผ่านสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และออกสู่ทะเลจีนใต้ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความยาวทั้งหมด 4,880 กิโลเมตร เป็นความยาวในประเทศจีน 2,130 กิโลเมตร ช่วงไหลผ่านประเทศจีนมีชื่อเรียกว่า แม่น้ำหลานชาง หรือ แม่น้ำล้านช้าง และเมื่อไหลผ่านเข้าเขตประเทศเมียนมาและลาว เรียกว่า แม่น้ำของ รวมถึงคำเมืองล้านนาก็เรียกว่าแม่น้ำของ ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า แม่น้ำโขง

*แม่น้ำโขงมีลักษณะสำคัญคือ มีตลิ่งสูงชันมากทั้งสองฝั่ง ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา กระแสน้ำไหลจากเหนือลงสู่ทางใต้ตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ความเร็วของกระแสน้ำขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล ดินในแม่น้ำโขงเป็นดินทราย มีเกาะแก่งน้อยใหญ่กว่า 100 แห่งเรียงรายตลอดแม่น้ำ การที่แม่น้ำโขงไหลผ่านหลายประเทศเช่นเดียวกับแม่น้ำดานูบในยุโรป ทำให้บางคนเรียกว่าแม่น้ำนานาชาติ และได้รับการขนานนามว่า “แม่น้ำดานูบตะวันออก”

*นอกจากนี้ สำหรับประเทศจีนแม่น้ำโขงยังเป็น 1 ในแม่น้ำ 3 สาย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ร่วมกับแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำสาละวิน ในเขตพื้นที่มณฑลยูนนาน ภายใต้ชื่อ “พื้นที่คุ้มครองแม่น้ำขนานสามสายแห่งยูนนาน” พื้นที่ดังกล่าวนับได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งนี้ มีสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและพบได้แห่งเดียวในโลกเฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้นคือ ปลาบึก (Pangasianodon gigas)

*************************
*(ที่มา วิกิพีเดีย เข้าถึงเมื่อ 25 มกราคม 2560)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น