หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ข่าว ; แม่โจ้โพลล์สำรวจพบภาคเกษตรส่วนใหญ่ยังมีการออม แต่ภาพรวมยังคงประสบปัญหา


“ไทย คือ ชาติกสิกรรม” เป็นคำกล่าวที่เราได้ยินคุ้นหูมาอย่างยาวนาน ในอดีตภาคการเกษตรของไทยมีความสำคัญในฐานะที่ช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรต่างๆ เช่น ในปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร คือ อันดับ 1 ยางธรรมชาติ มูลค่าการส่งออก 244,748 ล้านบาท รองลงมาคือ ข้าวและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 191,228 ล้านบาท ปลาและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 120.657 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2557) นอกจากนี้ภาคเกษตรกรรมยังมีความสำคัญในแง่ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหารและยาของประเทศ แต่ในทางกลับกันกลับพบว่าภาคเกษตรของไทยประสบปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน เช่น

อันดับแรก ด้านทรัพยากรธรรมชาติ พบว่าที่ดินทางการเกษตรมีความเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณมาก และมีวิธีการผลิตทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน

ประการที่ 2 ด้านสุขภาวะของเกษตรกรไทย พบว่า เกษตรกรมีแนวโน้มอายุที่สูงขึ้น และปัญหาสุขภาพต่างๆ ส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพทางการผลิตทางการเกษตร

ประการที่ 3 ปัญหาด้านการตลาด พบว่า เกษตรกรขาดอำนาจในการต่อรองราคาและถูกเอารัดเอาเปรียบทางการค้า

จากสาเหตุข้างต้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในภาพรวม กล่าวคือ เมื่อเกษตรกรผลิตได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ประกอบกับการเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน ทำให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ส่งผลให้เกษตรกรมีภาวะหนี้สินสูงและการออมต่ำ ซึ่งหากฟังจากลักษณะครัวเรือนในภาคการเกษตรที่เป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ  ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ในอนาคตที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะมีเกษตรกรอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ส่งผลถึงภาระในการเลี้ยงดูคนชราเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 41.82 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 24.55 ภาคกลาง ร้อยละ 25.45 และภาคใต้ ร้อยละ 8.18) จำนวนทั้งสิ้น 660 คน ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน  2559  ในหัวข้อ "การออมกับเกษตรกรไทย" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการออมในภาคครัวเรือนของเกษตรกรไทย และความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการออมและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา

ผลการสำรวจพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.91 มีการออม โดยมีรูปแบบการออมได้แก่ อันดับ 1 (ร้อยละ 59.70) ฝากธนาคาร เช่น ธกส. ออมสินและกรุงไทย เป็นต้น อันดับ 2 (ร้อยละ 23.64) คือ เก็บไว้เองที่บ้าน อันดับ 3 (ร้อยละ 20.91) คือ ฝากกองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้าน ส่วนอีกร้อยละ 24.09 ที่บอกว่าไม่มีการออม พบว่ามีสาเหตุมาจากการมีภาระหนี้สินเดิมที่ต้องชำระและมีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูง

สำหรับความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อการออมของครัวเรือนเกษตรกรนั้น พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 72.58) ได้แก่ การมีรายได้ของครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ อันดับ 2 (ร้อยละ 57.27) ได้แก่ การมีภาระค่าใช้ในครัวเรือนสูง เช่น การส่งเสียลูกหลานเรียนหนังสือ เป็นต้น อันดับ 3 (ร้อยละ 34.55) ได้แก่ ผลตอบแทนจากการออมไม่คุ้มค่า เมื่อสอบถามถึงการปรับตัวและแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มการออมในครัวเรือน พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 55.45) ใช้วิธีการปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อนำไปออม อันดับ 2 (ร้อยละ 55.00) ใช้วิธีการหาอาชีพเสริมอื่นๆ เพื่อเพิ่มรายได้ อันดับ 3 ร้อยละ 41.67 ใช้วิธีการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ในส่วนของข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมในครัวเรือนของเกษตรกร พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 63.79) พบว่า เกษตรกรต้องการได้รับความช่วยเหลือในการยกระดับรายได้ของเกษตรกร อันดับ 2 (ร้อยละ 50.91) รัฐบาลควรมีมาตรการเพิ่มอัตราผลตอบแทนในการออมเพื่อจูงใจให้เกิดการออม และอันดับ 3 (ร้อยละ 30.09) เพิ่มรูปแบบการออมที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร

จากผลการสำรวจจะพบว่าแม้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีการออมของภาคครัวเรือนในรูปแบบต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าครัวเรือนในภาคการเกษตรก็มีปัญหาต่างๆ อยู่อีกมาก เช่น หนี้สินสะสม ภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้น และต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างให้เกิดการออมในเกษตรกร ดังนั้นส่วนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับการออมในครัวเรือนภาคการเกษตร เนื่องจากการออมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนด้านการผลิตและถือเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ซึ่งหากครัวเรือนภาคเกษตรที่เป็นครัวเรือนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ต่ำและขาดเงินออมเพื่อลงทุนทำการผลิตทางการเกษตรแล้ว ก็จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างแน่นอน

สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ ในหัวข้อ "การออมกับเกษตรกรไทย"
1. สถานการณ์การออมของครัวเรือนเกษตรกรในปัจจุบัน
1) มีการออม ร้อยละ 75.91 โดยมีรูปแบบการออม คือ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
1. ฝากธนาคาร เช่น ธกส. ออมสินและกรุงไทย เป็นต้น (ร้อยละ 59.70)
2. เก็บไว้เองที่บ้าน (ร้อยละ 23.64)
3. ฝากกองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้าน (ร้อยละ 20.91)
4. การซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตและการซื้อฉลากเพื่อการออม (ร้อยละ 19.39)
5. ซื้อสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ที่ดิน (ร้อยละ 12.12)
2) ไม่มีการออม ร้อยละ  24.09 โดยมีสาเหตุมาจาก (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
1.มีภาระหนี้สินเดิมที่ต้องชำระ (ร้อยละ 21.70)
2.มีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูง (ร้อยละ 15.15)
3.มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 13.03)
2. ความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อการออมของครัวเรือนเกษตรกร (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
อันดับ 1 ได้แก่ รายได้ของครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 72.58
อันดับ 2 ได้แก่ มีภาระค่าใช้ในครัวเรือนสูง เช่น การส่งเสียลูกหลายเรียนหนังสือ เป็นต้น ร้อยละ 57.27
อันดับ 3 ได้แก่ ผลตอบแทนจากการออมไม่คุ้มค่า ร้อยละ 34.55
อันดับ 4 ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน เช่น กลุ่มออมทรัพย์หรือสหกรณ์ เป็นต้น ร้อยละ 28.79
อันดับ 5 ไม่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการออม ร้อยละ 16.67
3. การปรับตัวและแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มการออมในครัวเรือน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
อันดับ 1 ทำการปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อนำไปออม ร้อยละ 55.45
อันดับ 2 หาอาชีพเสริมอื่นๆ เพื่อเพิ่มรายได้ ร้อยละ 55.00
อันดับ 3 หาวิธีการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 41.67
อันดับ 4 จะมีการวางแผนและเป้าหมายการออมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ร้อยละ 38.18
อันดับ 5 เพิ่มช่องทางการออมที่หลากหมายมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 24.39
4. ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมในครัวเรือนเกษตรกร (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
อันดับ 1 คือ ช่วยเหลือยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ร้อยละ 63.79
อันดับ 2 มีมาตรการเพิ่มอัตราผลตอบแทนเพื่อจูงใจให้เกิดการออม ร้อยละ 50.91
อันดับ 3 เพิ่มรูปแบบการออมที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร ร้อยละ 30.09

ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
1. ภาค 1) เหนือ ร้อยละ 41.82 2) ตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ  24.55 3) กลาง ร้อยละ  25.45 4) ใต้ ร้อยละ  8.18
2. เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม 1) ชาย ร้อยละ 49.09 2) หญิง ร้อยละ 49.70 3) เพศทางเลือก ร้อยละ 1.21
3. อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ มีอายุเฉลี่ย 43 ปี ต่ำสุด 18 ปีและอายุสูงสุด 80 ปี
4. รายได้จากภาคการเกษตรต่อปี ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ มีรายได้เฉลี่ย  115,992 บาท ต่ำสุด 30,000 บาท และสูงสุด  580,000 บาท
5. รายได้นอกภาคการเกษตรต่อปี ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ มีรายได้เฉลี่ย 52,680 บาท ต่ำสุด 5,000 บาท และสูงสุด 500,000 บาท
6.ระดับการศึกษา 1) ประถมศึกษา ร้อยละ  33.64 2) มัธยมศึกษา ร้อยละ 27.73 3) ปวช./ปวส. ร้อยละ 15.91 4) ปริญาตรี ร้อยละ 17.58 5) สูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 3.33 6) ไม่ได้เรียน ร้อยละ 1.82

********************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น