หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ข่าว ; อาจารย์แพทย์ มช. บุคคลที่มีผลงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่น ประจำปี 2558

อาจารย์แพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัล “บุคคลที่มีผลงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่น” ประจำปี 2558 จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งจัดงานขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร
ผศ.นพ.นเรนทร์  โชติรสนิรมิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าทำงานร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งดูแลเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนามาตรฐานในการดูแลผู้บาดเจ็บหรือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน และเมื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินประมาณ 3 ปี รวมถึงได้ทำงานกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ทำให้ได้ปฏิบัติงานใหญ่ 3 เรื่องคือ มีส่วนสนับสนุนงานการฝึกอบรมการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บชั้นสูง (Advanced trauma life Support  : ATLS ) หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานสำหรับใช้ในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บที่ห้องฉุกเฉินที่มีการใช้มาแล้วทั่วโลก หากผู้ใดได้เข้าอบรมหลักสูตรนี้ จะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถเทียบเคียงกับนานาประเทศ ซึ่งตนเองได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมหลักสูตรนี้ในประเทศไทยเป็นรุ่นแรกเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา และมีการพัฒนาการฝึกอบรมมาโดยตลอด จนปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรของระดับชาติ ภายใต้คณะกรรมการจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ดูแลด้านมาตรฐานการดูแลผู้บาดเจ็บในห้องฉุกเฉิน หลักสูตรปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่ามีการฝึกอบรมในประเทศไทย และมีการฝึกอบรมมาเป็นเวลานานแก่แพทย์ทั่วประเทศ ทั้งศัลยแพทย์ แพทย์ศัลยกรรมออร์โทปิดิกส์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินจำนวนมาก ด้วยประสบการณ์ที่มีในการสอนมาเป็นเวลานานและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ  จึงได้มีโอกาสรับเชิญให้สอนตามประเทศต่างๆ อาทิ  มาเลเซีย เมียนมาร์ สิงคโปร์ มองโกเลีย  ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา
นอกจากนั้น จากการที่ได้เล็งเห็นว่าการดูแลผู้บาดเจ็บไม่ได้เริ่มจากที่ห้องฉุกเฉินเท่านั้น แต่การดูแลที่ได้มาตรฐานน่าจะเริ่มจากจุดเกิดเหตุ โดยทีมแพทย์พยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์ก็ควรจะได้รับการพัฒนาเช่นกัน หลักสูตร ATLS ที่สอนในช่วงแรกไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการดูแลผู้บาดเจ็บ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2557 จึงได้เขียนโครงการนำหลักสูตรที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ ที่เรียกว่า Pre-hospital Trauma Life Support (PHTLS) เสนอต่อกรรมการของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักสูตรในการดูแลผู้บาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล ตั้งแต่จุดเกิดเหตุบนท้องถนนจนถึงโรงพยาบาล กลุ่มบุคลากรที่จะได้ประโยชน์จากหลักสูตรนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ออกไปดูแลผู้บาดเจ็บบนท้องถนน อาทิ แพทย์ พยาบาลรถกู้ชีพมูลนิธิ หรือรถกู้ภัย เป็นต้น ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้ระบบดูแลผู้ป่วยตามหลักสูตรที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งปรับแต่งหลักสูตรมาจากต่างประเทศเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้มีความเข้าใจไม่ตรงกับนานาประเทศอยู่บางเรื่อง จึงได้ประสานกับผู้ดูแลหลักสูตรในสหรัฐอเมริกา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก 2 แหล่งคือ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในการส่งแพทย์ผู้ที่มีความสามารถจำนวน  6 คน เข้ารับการอบรมในต่างประเทศ และนำคนที่มีความสามารถจากต่างประเทศมาช่วยสอนครั้งแรกในประเทศไทย  จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการนำหลักสูตร PHTLS นี้เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการที่นานาประเทศยอมรับ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2558 และได้เริ่มฝึกอบรมให้กับแพทย์ในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 10 รุ่น และคาดว่าในปลายนี้จะเริ่มฝึกอบรมให้กับพยาบาลและทีมของผู้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้บาดเจ็บนอกโรงพยาบาล และในอนาคตอันใกล้นี้ การนำหลักสูตรดังกล่าวเข้ามาในไทย น่าจะเป็นการพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้บาดเจ็บนอกโรงพยาบาลให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และเรื่องสุดท้ายคือได้รับตำแหน่งเป็นประธานการประเมินการฝึกอบรมกลุ่มอาชีพวิชาชีพใหม่  ที่เรียกว่าพาราเมดิก (นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์) ซึ่งเป็นบุคลากรที่จะออกไปดูแลผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วยในจุดเกิดเหตุได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นวิชาชีพใหม่ เพราะที่ผ่านมาการดูแลผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉินจะอาศัยแพทย์และพยาบาลเป็นหลัก ซึ่งพยาบาลและแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝนให้ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล อาจไม่คุ้นเคยกับการดูแลผู้บาดเจ็บในสถานที่นอกโรงพยาบาลซึ่งมีทรัพยากรจำกัด การมีนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ซึ่งจบการศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี จะเป็นบุคคลสำคัญที่มีความรู้ในการดูแลตั้งแต่ก่อนถึงโรงพยาบาล ปัจจุบันตนเองดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการประเมินผู้เข้าฝึกอบรมเหล่านี้ ภายใต้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เมื่อมีคณะกรรมการชุดนี้ ทำให้การฝึกอบรมเป็นรูปธรรมและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
จากผลงานหลักทั้ง 3 เรื่องที่มีความสอดคล้องกัน อันเป็นการส่งผลให้การอบรมด้านวิชาการเพื่อให้ได้ระบบและบุคลากรที่มีคุณภาพ ออกไปดูแลผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ปลอดภัยและรอดชีวิตมากยิ่งขึ้น จนทำให้ได้รับรางวัลบุคคลที่มีผลงานทางการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่น ประจำปี 2558 ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย
******************
ประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มช.-ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น