หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ข่าว ; อาจารย์แพทย์ มช. รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ "DMSc Award"

อาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ "DMSc Award"  จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุมวิชาการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ณ อิมแพ็คฟอรั่ม อิมแพ็คเมืองทองธานี กรุงเทพฯ
            รศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ หัวหน้าหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานรางวัลดังกล่าวเปิดเผยว่า รางวัลที่ได้รับเป็นรางวัลประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์  เรื่อง "การศึกษาวิจัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบบูรณาการในประเทศไทย” ซึ่งโรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากกว่าภาคอื่น เนื่องจากพฤติกรรมของประชากรในภูมิภาคนี้ มีการสูบบุหรี่กันเป็นจำนวนมากทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่ขี้โย โดยเพศหญิงมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ใกล้เคียงกับเพศชาย (สำหรับภาคอื่นพบว่า สถิติการสูบบุหรี่ของเพศหญิงต่อเพศชายมีเพียง 1 ต่อ 10 เท่านั้น) ผู้ป่วยที่พบส่วนมากมีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีอาการป่วยจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปอาการจะปรากฏรุนแรงขึ้น คุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้จะเสียไป และก่อให้เกิดภาระต่อลูกหลาน สังคม และเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งจากสถิติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยืนยันว่า โรคดังกล่าวเป็นโรคระบบการหายใจที่เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายสูงที่สุดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ด้วยเหตุนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเริ่มการศึกษาวิจัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบบูรณาการขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย จากการศึกษาก็ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ทำให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ปัญหาและผลของการแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน โดยคิดโปรแกรมการฝึกออกกำลังกายใช้ชื่อว่า โครงการฟื้นฟูกล้ามเนื้อเพื่อชีวิต สร้างโปรแกรมการฝึกเรียกเพื่อเป็นเกียรติแก่สถาบันว่า โปรแกรมการฝึกอบรมการออกกำลังกายสวนดอก (Suandok Exercise Training (SET)program ) ใช้เวลาเพียง 2 เดือน 16 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยขั้นรุนแรงและรุนแรงมาก ภายใต้การควบคุมดุแลโดยอายุรแพทย์ นักกายภาพบำบัดและพยาบาล พบว่ามีประสิทธิภาพสูงมากในทุกๆ มิติที่พึงประเมิน ความแข็งแรงกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น สมรรถนะการออกกกำลังกายเพิ่มขึ้น ระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้น อาการหายใจลำบากลดลง ภาวะโรคกำเริบลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาเท่านั้น ซึ่งนับเป็นการศึกษาที่มีการติดตามอย่างเป็นระบบเป็นเวลานานที่สุดที่เคยมีการศึกษามา แต่เครื่องมือราคาสูงเกินไปสำหรับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงพัฒนาต่อยอดเป็นโปรแกรม Modified SET (MSET) คือใช้อุปกรณ์ที่มีราคาถูก หาซื้อง่าย และใช้วิธีการประเมินที่ไม่ซับซ้อน ทำได้ง่ายสำหรับพยาบาลทั่วไป ทำการทดสอบในโรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง ผลปรากฏว่ามีประสิทธิภาพดีเช่นเดียวกัน ผลการวิจัยการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดนี้เป็นการกระตุ้น และสร้างความตื่นตัวในการทำการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด และกำหนดนโยบายในวงการสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด
งานวิจัยดังกล่าวจำนวน 13 เรื่อง ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่มีความถี่ของการอ้างอิงบทความวารสารในแต่ละปีสูงในช่วงปี 2557-2558 คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาจำนวน 15 คนได้พิจารณาว่า ผลงานวิจัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบบูรณาการดังกล่าว สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข DMSc Award ประจำปี พ.ศ. 2559 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้รับพระราชทานรางวัล DMSc Award ประเภทการวิจัย  และการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์จาก ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในครั้งนี้ รศ.นพ.ชายชาญ กล่าว
*******************

งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มช.-ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น