หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ข่าว ; เตือนประชาชนงดกินเห็ดที่ไม่รู้จักเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เตือนอันตรายจากการกินเห็ดพิษ แนะประชาชน  ไม่ควรเก็บหรือซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงเป็นอาหารเพราะอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกและทำให้มีเห็ดขึ้นตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ทั้งที่กินได้และกินไม่ได้คือเห็ดพิษซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่กินได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและเก็บมากิน ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ จากรายงานเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา ฝ่ายควบคุมโรคและป้องกันโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคม ปี2558 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษ 3 ราย และเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2559 ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษ
สำหรับอาการเจ็บป่วยหลังกินเห็ดพิษพบได้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ซึ่งเห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุด คือ เห็ดระโงกหินหรือเห็ดไข่ตายซาก จะมีสารพิษ 2 ชนิดคือ อะมาท็อกซินส์ และฟาโลท็อกซินส์ ที่จะทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด และระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง โดยสารพิษในเห็ดจะทนความร้อนได้ดี ดังนั้น แม้เห็ดจะถูกปรุงสุกแล้วแต่ความเป็นพิษก็ยังมีสูง และอาการป่วยจะปรากฏหลังกินเห็ดพิษประมาณ 3 ชั่วโมง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็วและปวดเกร็งในท้อง
            ทางด้านวิธีสังเกตลักษณะของเห็ดที่มีพิษนั้นคือ เห็ดพิษส่วนใหญ่เจริญงอกงามในป่า ก้านสูง ลำต้นโป่งพองออก โดยเฉพาะที่ฐานกับที่วงแหวนเห็นชัดเจน สีผิวของหมวกมีได้หลายสี เช่น สีมะนาวถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง ผิวของหมวกเห็ดส่วนมากมีเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ในลักษณะที่ดึงออกได้หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่ ครีบแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง สปอร์ใหญ่มีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใสๆรูปไข่กว้าง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกรับประทานเห็ดไว้หลายประการ ได้แก่
1. ควรเลือกรับประทานเห็ดที่รู้จักดี เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดลม เห็ดโคน เป็นต้น
2. เวลาเก็บเห็ดต้องเก็บให้ครบทุกส่วน โดยขุดให้ลึกเพราะหากเด็ดแต่ด้านบนแล้วจะไม่เห็นลักษณะจำเพาะบางอย่าง เช่น กระเปาะซึ่งอยู่ติดกับดิน ใช้บ่งบอกชนิดของเห็ดพิษร้ายสามารถสังเกตได้ คือมีสีเข้มจัด เช่น แดง ส้ม ดำ หรือมีสีฉูดฉาด มีแผ่น หรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ด มีวงแหวนพันรอบบนก้านดอกเห็ด วงแหวนนี้จะเป็นตัวเชื่อมเนื้อเยื่อของหมวกเห็ด และก้านดอกให้ติดกันเมื่อดอกเห็ดบาน มีขน หรือหนามเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป มีกลิ่น โดยส่วนมากจะเป็นกลิ่นเหม็น มีน้ำ
3. เก็บแต่เห็ดที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์เท่านั้น หลีกเหลี่ยงเห็ดที่อ่อนเกินไป ลักษณะต่างๆ ที่ใช้จำแนกชนิดยังไม่เจริญพอ หลีกเหลี่ยงเห็ดที่แก่หรือเริ่มเน่าเปื่อยเพราะเห็ดบางชนิด เมื่อแก่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีจนทำให้มีพิษอย่างอ่อนได้
4. อย่าเก็บเห็ดภายหลังพายุฝนใหม่ๆ เนื่องจากมีเห็ดบางชนิดที่สีบนหมวกอาจถูกชะล้างให้จางลงได้
5. ห้ามกินเห็ดดิบโดยเด็ดขาด เพราะเห็ดบางชนิดมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้กินจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ เมื่อกินหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้
6. ไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟ หรือข้างถนน เนื่องจากเห็ดและเชื้อรามีคุณสมบัติดูดซับสารพิษต่างๆสะสมไว้ในตัวมากรวมถึงโลหะหนัก
7. การตรวจสอบเห็ด เช่นต้มกับข้าวสาร ช้อนเงิน อาจใช้ได้บ้างแต่ไม่แน่นอน และใช้ได้กับเห็ดตระกูลไข่ ควรใช้สำหรับการทดสอบเพียงเบื้องต้นเท่านั้น
นอกจากนั้น หลักสำคัญคือต้องรู้จักเห็ดชนิดนั้นเป็นอย่างดีก่อนจะนำมาปรุงอาหาร ส่วนในรายการที่สงสัยว่าเกิดอาการจากเห็ดให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อล้างท้องโดยด่วน และควรนำเห็ดที่รับประทานไปให้แพทย์ดูด้วย เพื่อแพทย์จะได้ให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันการ
**********************

ประชาสัมพันธ์ สสจ.เชียงใหม่ – ข่าว
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ สสจ.ร้อยเอ็ด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น