หน้าเว็บ

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ข่าว ; 7 เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยวิจัย จับมือ วช. สร้างประเทศไทยไร้หมอกควัน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ 6 มหาวิทยาลัยวิจัยของประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สร้างงานวิจัย  “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” เพื่อผ่านพ้นวิกฤติหมอกควัน  สร้างสรรค์ พัฒนาทรัพยากรและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
               เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย กลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการภัยพิบัติ Research University Network for Climate Change & Disaster Management (RUN-CCDM) ร่วมกันแถลงถึงโครงการ ประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) ณ ห้องประชุม สำนักบริการวิชาการ (UNISERV) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ วิริยจารี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล และรองศาสตราจารย์ นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายบริการ พัฒนาสังคม ศิลปวัฒนธรรมและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิชัยแห่งชาติ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมและแถลงข่าว เพื่อชี้แจงปัญหาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ตลอดจนการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะหมอกควันในประเทศไทย
เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย กลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการภัยพิบัติ (RUN-CCDM) ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ 7 มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ประสานงานหลัก เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านงานวิจัยและวิชาการ ด้วยความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน รวบรวม วิเคราะห์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อการคาดการณ์ภัยพิบัติ ตั้งรับ และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชากรทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจภายในประเทศน้อยที่สุด
สำหรับภารกิจแรกของกลุ่มคือ การทำงานวิจัยภายใต้โครงการ ประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจำนวน 44 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะหมอกควัน เพื่อนำพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างสรรค์และก่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
            สำหรับพันธกิจของโครงการ ประเทศไทยไร้หมอกควันนั้น จะมีการดำเนินในหลายๆ ส่วน ประกอบด้วย การทำงานชุมชนเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ทั้งในเขตชุมชนเมืองและชนบท  โดยร่วมกันสร้างต้นแบบการพัฒนาชุมชน ตลอดจนออกแบบห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อลดการทำเกษตรแบบพึ่งพาไฟอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังจะมีการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือ วิธีการ แผนงาน ในการลดผลกระทบจากหมอกควันที่เกิดขึ้นต่อประชาชน ทั้งในด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจ รวมไปจนถึงการสร้างเครือข่ายติดตามตรวจสอบสภาพภูมิอากาศและคาดการณ์การเกิดหมอกควันภายในประเทศ การประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการตั้งรับและบริหารจัดการภัยพิบัติเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจ ของประชาชนและประเทศน้อยที่สุด ตลอดจนจะมีการจัดตั้งศูนย์ความรู้และการฝึกอบรมเพื่อสร้างบุคลากร นักศึกษา นักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการภัยพิบัติจากหมอกควัน รวมถึงเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ภัยพิบัติจากหมอกควันสู่ประชาชนในระดับภูมิภาค
            ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลพบว่า
ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากหมอกควันในพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายนของทุกปี หมอกควันจากไฟป่าและการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนี้ได้ส่งผลต่อคุณภาพอากาศและทัศนวิสัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่าผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อโรคระบบทางเดินหายใจคิดเป็นร้อยละ 7.72 ของค่า GDP ของจังหวัดเชียงใหม่ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้สร้างความเสียหายต่อมูลค่าการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี รวมมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จะเกิดผลดีต่อประเทศได้อย่างมหาศาล
โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน หรือ Haze Free Thailand จากความร่วมมือของ 7 มหาวิทยาลัยวิจัยของประเทศซึ่งมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแกนนำหลักในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันทำงานในพื้นที่ และใช้ความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันมาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานของการเกิดหมอกควัน การฟื้นฟูป่าและอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ การป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน การตรวจวัดและติดตามคุณภาพอากาศเพื่อการเฝ้าระวังให้กับประชาชน และการเสริมสร้างศักยภาพให้กับประชาชน นักเรียน นักวิจัย เพื่อสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเป็นระบบต่อไป

-------------------------------------------------------------


ปชส.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น