หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สัมภาษณ์ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 15 กรณียาซูโดเอฟริดิน


ถอดบทสัมภาษณ์พิเศษ นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 15 กรณี ความคืบหน้าการสอบสวนคดี ยาซูโดเอฟริดิน เชียงใหม่ 3 พฤษภาคม 2555

กรณีโรงพยาบาลดอยหล่อ มีแนวโน้มที่เภสัชกรใช้อำนาจในการสั่งซื้อยา เป็นความผิดที่อาจพัวพันถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาล ขณะนี้กำลังรอรายละเอียดเพิ่มเติมในการสอบสวนอีกบางส่วน หรือ อาจเป็นข้อหาเฉพาะเภสัชกรเองก็ได้ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยร้ายแรง อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล พยานหลักฐานทั้งหมด และจะทำรายงานแจ้งข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบ พร้อมทั้งหาพยานหลักฐานหรือเอกสารมาแก้ข้อกล่าวหาเพื่อหักล้าง และนำสืบพยานในลำดับต่อไป หลังจากนั้นคณะกรรมการจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากทุกฝ่ายมาประมวลจึงจะสามารถบอกได้ว่า ผู้ใดมีความผิดวินัยระดับใด แล้วนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป

กรณีโรงพยาบาลฮอด ผู้เกี่ยวข้องเป็น ผู้อำนวยการ เภสัชกร พนักงานเภสัชกรรม และพนักงานคุมคลังยา ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลอยู่ในตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญ อยู่ในอำนาจของปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ โดยปลัดกระทรวงได้มอบหมายให้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 15 นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร เป็นกรรมการสอบสวน โดยพบว่า ผู้กระทำความผิดจะมีทั้ง 2 ระดับ คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะอยู่ในขั้นผิดวินัยไม่ร้ายแรง เภสัชกรผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งได้แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วและครบเวลา 2 สัปดาห์ตามระเบียบปฏิบัติในวันที่ 20 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา พร้อมได้ได้เชิญผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมาในวันนี้ (3 พ.ค.55) แต่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้นัดเชิญทั้งหมดไปให้การในวันพรุ่งนี้ที่  กทม. จึงเลื่อนการสอบเพิ่มออกไป ในขณะเดียวกันได้ให้ทาง รพ.ฮอด ดำเนินการหาข้อมูล เอกสาร พยานเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง ก่อนเชิญทั้งหมดทารับทราบ ตาม สว.3 จากนั้นทั้งหมดจะยังมีเวลาในการหาพยานหลักฐาน/เอกสารมาหักล้างข้อกล่าวหาได้อีกระยะเวลาหนึ่ง จนถึงกระบวนการนำสืบชั่งน้ำหนักพยาน/หลักฐานทั้งหมดให้ครบถ้วน

ที่กล่าวว่าความผิดของ ผอ.รพ.ขั้นวินัยไม่ร้ายแรงนั้น คือ มีความผิดในการลงนามการจัดซื้อจัดจ้าง/ควบคุมกำกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายของผู้อำนวยการ ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง จะมีเจ้าหน้าที่พัสดุเป็นผู้มีอำนาจ ซึ่ง รพ.ฮอดนั้น พบว่า เภสัชกรเองเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ และตรวจพบว่ามียาหายไปจากสต็อคจำนวนหนึ่ง หลังจากผู้ถูกกล่าวหารับทราบตาม สว.3 แล้ว ระเบียบปฏิบัติไม่ได้กำหนดระยะเวลาปฏิบัติไว้ แต่ทางคณะกรรมการจะเร่งโดยเร็ว เพราะเป็นคดีที่ประชาชนสนใจ กระบวนตามวินัยราชการนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้ซับซ้อนในการดำเนินการตามวินัย แต่จะไปซับซ้อน ในกระบวนการของระบบการนำยา เข้า-ออก จาก รพ. ซึ่งไม่สามารถตอบได้ว่า แค่ซื้อขาย หรือทำกำไร โดยไม่ได้คิดว่าการทำกำไรนั้นจะนำไปสู่กรณีการนำยาไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด

ส่วนยาถ้ามีการลักลอบนำเข้า-ออก จากที่ใดนั้น จะต้องอยู่ในอำนาจของตำรวจ และ ดีเอสไอ ซึ่งตรงนี้อาจเกี่ยวข้องกับ ผู้แทนยา ที่เก็บเล็กผสมน้อยยาจากหลายๆแห่งที่รวบรวมมาสู่กระบวนการยาเสพติดก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ ความเสียหายของทาวราชการคือ ยาแม้กระทั่ง 1 เม็ดที่หายไป หรือการใช้ชื่อทางราชการแอบอ้างซื้อ-ขาย ก็ถือว่าเสียหายและเป็นความผิดทางวินัยแล้ว ดังนั้นทุก รพ.จึงต้องมีการวางแผนกำกับระบบยาให้รัดกุม ตั้งแต่ การจัดซื้อ การจ่ายยา การคุมคลัง ตามด้วยข้อจำกัดของบุคลากรในสายงานนี้ จึงอาจเป็นช่องว่างในการปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด จึงมีกรณีผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากกรณีทุจริตยาในปี 2540 มานั้น ได้มีการจัดซื้อร่วม ทำให้ต้นทุนยาราคาถูกลง ส่งผลให้ราคายาแตกต่างกันมาก จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผู้แสวงหากำไรมาใช้ช่องทางนี้ได้

จากการที่คณะกรรมการลงพื้นที่ไปสอบสวนพบว่า ผู้อำนวยการอาจมีจุดอ่อนคือไม่เห็นจำนวนยาจริงที่กองอยู่ กับจำนวนในใบสั่งซื้อ ซึ่งตัวเลขไม่ตรงกัน ต้องมีการปรับระบบใหม่ และบางครั้ง ผอ.รพ.อาจไม่ได้รับข้อมูลจริงในการตัดสินใจซื้อจึงเกิดการผิดพลาดได้ หลังจากมีการให้ส่งมอบยาตัวนี้คืน ปัญหาที่ตามมาคือการกลัวของ รพ.ของรัฐในการสั่งใช้ยาตัวนี้ หลาย รพ.ได้แสดงความจำนงในการคืนยามาไว้ที่ สสจ.ชม. ซึ่งตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขนั้น รพ.ของรัฐยังสามารถใช้ยาซูโดเอฟริดีนได้ในกำกับของแพทย์ แต่ต้องบริหารเวชภัณฑ์ให้ดี เช่นเดียวกับ มอร์ฟีน ข้อห้ามไม่ให้ครอบครองจะเป็นส่วนของเอกชนทั้งหมด คลินิก รพ.เอกชน ร้านยา ห้ามมีในครอบครอง

ส่วนเป้าหมายระยะเวลาของการสอบวินัยร้ายแรงนั้น ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1 เดือน ตามคำสั่งที่ได้รับ เมื่อเดือนเมษายน 2555 เหลือเวลาอีก 2 เดือน จึงจะถึงกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ส่วนคำถามที่ว่า ทั้งสอง รพ.นั้น ยาที่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยาเสพติดหรือไม่ต้องรอผลการสอบสวนต่อไป แต่ ดูจากตัวเลขแล้วจำนวนเม็ดยาไม่ได้มากเท่าที่แห่งอื่นๆที่เป็นข่าวจำนวนหลักล้าน เพราะของ รพ.ดอยหล่อ มีเพียง 7 หมื่นเม็ด ส่วนรพ.ฮอด มีเพียง 5 หมื่นเม็ด

ถอดบทสัมภาษณ์โดย พุธรักษ์ ภาวัง.........ประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น