สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาหมอกควันพิษในจังหวัดในภาคเหนือตอนบนทุกปีคือ การเผาป่าทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา ทั้งที่เป็นการทำไร่เลื่อนลอย การเผาป่าเพื่อเอาที่ และการหาของป่าของชภูเขา รวมไปถึงการเผาเศษวัชพืช และการเผาเศษพืชเหลือทิ้งทางการเกษตรของชาวพื้นราบ
เศษพืชเหลือทิ้งทางการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ส่วนใหญ่เป็นเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฟางข้าว และเศษใบไม้ วิธีการจัดการเศษพืชเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยไม่ให้เผาทำลายมีสองวิธีคือ (1) นำไปอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงเขียวหรือเชื้อเพลิงชีวมวล และ (2) นำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีองค์ความรู้ที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นทางเลือกในการจัดการเศษพืชเหลือทิ้งทางการเกษตร นั่นคือ มีนวัตกรรมที่สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ปริมาณครั้งละมาก ๆ โดยการกองเป็นแถวยาว 100 – 200 เมตร และที่สำคัญคือไม่ต้องพลิกกลับกอง มีเคล็ดลับหัวใจอยู่ที่การรักษาระดับความชื้นกองปุ๋ย วิธีนี้เรียกว่า วิศวกรรมแม่โจ้ 1
ด้วยวิธีนี้ ผู้ที่สนใจจะนำเศษพืชมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีราคา ก็เพียงแต่นำมูลสัตว์มาเข้ากระบวนการกับเศษพืชในสัดส่วน 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร กองบนพื้นดินเป็นแถวยาวรูปสามเหลี่ยมบนบริเวณที่มีเศษพืช (ไม่ต้องขนไปขนมา) รายละเอียดวิธีการขึ้นกองปุ๋ยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.compost.mju.ac.th เมื่อขึ้นกองปุ๋ยแล้วก็ไม่ต้องทำอะไรอื่นอีกนอกจากคอยดูแลรักษาความชื้นทั้งภายนอกและภายใน โดยอาจขอความร่วมมือรถน้ำจาก อบต.หรือเทศบาลก็ได้ วิธีนี้ใช้เวลาเพียงสองเดือนก็แล้วเสร็จ
ความยาวกองปุ๋ยแบบนี้ยาว 4 เมตรจะให้ปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตันมีมูลค่าในท้องตลาดสูงถึงตันละ 4,000 – 7,000 บาท และมีต้นทุนเป็นค่ามูลสัตว์เพียงตันละ 750 บาท
เกษตรกรที่นำเศษพืชปริมาณมากมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกองแบบนี้ นอกจากจะสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์แล้ว เมื่อนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดินเพาะปลูกจะทำให้ดินกลับมามีชีวิต คืนความอุดมสมบูรณ์ จนสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงได้ และพบว่ามีกลุ่มเกษตรกรหลายแห่งถึงกับสามารถทำการเกษตรอินทรีย์ได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลยก็มี
หากเกษตรกรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นวิกฤติเป็นโอกาส ก็สามารถสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนด้วยวิธีนี้ได้ไม่ยากนัก โดยงดการเผาเศษพืช แล้วนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์วิธีใหม่ เพียงแค่นี้ก็ถือว่าได้มีส่วนช่วยลดปัญหาหมอกควันพิษแล้ว
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ใช้นวัตกรรมนี้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในการศึกษาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกร 7 แห่งใน 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเพื่อต้านกับปัญหาการเผาทำลายเศษพืช และนอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการเปิดฐานเรียนรู้ 32 แห่งใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอีกด้วย
มหาวิทยาลัยแม่โจ้เองได้ใช้องค์ความรู้นี้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษใบไม้ที่ฐานเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าชมฟรีตั้งแต่ปี 2547 โดยไม่เคยต้องเผาทำลายเศษใบไม้ ผู้ที่สนใจจะเข้าชมติดต่อได้ที่คณบดีคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50290
++++++++++++++
บทความโดย
ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น