หน้าเว็บ

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; หารือความร่วมมือเชียงใหม่-เซี่ยงไฮ้ ด้านการพัฒนาเทคนิค Software

จังหวัดเชียงใหม่ให้การต้อนรับและหารือร่วมกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทการลงทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้และคณะ เพื่อแนะนำการพัฒนา Software “สมาร์ทซิตี้” ของมหานครเซี่ยงไฮ้และการนำเทคนิคมาใช้ในการพัฒนาเมืองและการบริหารภาครัฐ
 
หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ  ดร.จู้เหวยหมิน กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ นายเสิน เหว่ยกั๋ว กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทการลงทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้และคณะ รวม 8 คน ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 14  - 21 ตุลาคม 2554 โดยมีกำหนดเยือนจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 14 – 19 ตุลาคม 2554 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของมหานครเซี่ยงไฮ้และจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสวงหาแนวทางความเป็นไปได้ในความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายทางด้าน Software การบริหารภาครัฐ โดยได้แนะนำการพัฒนาเทคนิค Software “สมาร์ทซิตี้” แก่คณะของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย
 
บริษัทการลงทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ (Shanhai Science & Technology Investment Corporation, Wonders Information Co., Ltd Shanghai Triman Information & Technology Co., Ltd และ Shanghai Shenji Information System Engineering Ltd) ประสบความสำเร็จในด้านการลงทุนเป็นอย่างมาก เป็นบริษัทที่มีการผลิต Software และการบริหารการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่มีการลงทุนความเสี่ยงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2535 มีมูลค่าการลงทุนสะสมสูงถึง 9.6 ล้านหยวน มีมูลค่าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการลงทุนถึง 6 เท่า   ที่ผ่านมาบริษัทการผลิต Software ทั้ง 3 แห่ง ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่จัดเสนอ Software ด้านการบริหารภาครัฐที่มีชื่อเสียงในมหานครเซี่ยงไฮ้ตลอดจนสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยรวม
 
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่และมหานครเซี่ยงไฮ้ ได้มีการลงนามความตกลงสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องต่อกัน เมื่อปี ค.ศ.2000 ณ นครเซี่ยงไฮ้ โดยได้มีการกำหนดกรอบการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในมติติต่าง ๆ ร่วมกัน อีกทั้งผู้บริหารทั้งสองเมืองทั้งระดับรัฐบาล ระดับท้องถิ่น ภาคเอกชนและประชาชน ได้มีการเดินทางเยี่ยมเยือนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา การแพทย์ การเกษตร และ Logistic เป็นต้น นอกจากนั้นยังผลักดันกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือและให้เกิดความคุ้นเคยในกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งให้การสนับสนุนในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อประโยชน์แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนบนพื้นฐานที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันมาโดยตลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น