หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; สภาความมั่นคงแห่งชาติประชุมทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ พื้นที่ภาคเหนือตอนบน

สภาความมั่นคงแห่งชาติจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อหารือ ทบทวน และพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนรองรับนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่

นายอนุสิษฐ คุณากร รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและนำไปสู่เหตุวิกฤติในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อตรวจสอบการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ เพื่อศึกษาและถอดบทเรียนการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ของส่วนกลางและจังหวัด ในด้านสาธารณภัยและด้านความมั่นคง และเพื่อนำข้อมูลไปประกอบการจัดทำร่างยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติ

ที่ประชุมได้รับทราบนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐของรัฐบาล ความสำคัญและนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ การจัดทำแผนรองรับนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรี การทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ จากการถอดบทเรียนการบริหารสถานการณ์ในภาวะภัยพิบัติจากการสู้รบตามแนวชายแดนที่จังหวัดศรีสะเกษ และจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ณ จังหวัดอุบลราชธานี

ประเด็นการพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและนำไปสู่เหตุวิกฤติในระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2555-2559) ประเด็นกรอบแนวคิดข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติจากนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล นโยบายการป้องก้นและบรรเทาสาธารณภัยและนโยบายการป้องกันประเทศ

ประเด็นการเตรียมความพร้อมในการเผชิญและจัดการกับสถานการณ์วิกฤติทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ในระดับกระทรวง กรม จังหวัด และระดับท้องถิ่น ทั้งกรณีสาธารณภัยและภัยความมั่นคง การสร้างการตระหนักรู้ ทัศนคติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัญหาข้อจำกัดของกฎหมาย การแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การอพยพประชาชน การประชาสัมพันธ์และการจัดการข่าวสารในภาวะไม่ปกติ การประกาศพื้นที่เขตภัยพิบัติของจังหวัด การประกาศพิทักษ์พื้นที่เขตหลังโดยฝ่ายทหาร การเตรียมระบบการสื่อสารหลัก สำรองและเลขหมายฉุกเฉิน ระบบบัญชาการเหตุการณ์ การเตรียมทีมเฉพาะกิจทั้งทางการแพทย์ ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ และชุด SAR (Search and Rescue) โดยเหล่าทัพ การให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งการรับบริจาคสิ่งของ เงิน การส่งต่อความช่วยเหลือให้ถึงผู้ประสบภัย การเตรียมความพร้อมของกลุ่มอาสาสมัคร การรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน การควบคุมเส้นทางจราจร การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลกรณีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การประสานแผนงานระหว่างหน่วยงานในจังหวัด และการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหลังเกิดเหตุทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ

ประเด็นบทบาทขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต องค์กรชุมชนและองค์กรภาคประชาชน โดยการจัดทำแผนรองรับ จัดตั้งศูนย์อำนวยการของจังหวัดตั้งแต่ยามปกติ การฝึกซ้อมสาธารณภัยและภัยความมั่นคง การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การจัดการขณะเกิดเหตุ การดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ การประสานงานกับหน่วยงานพลเรือนและข้อจำกัดในการปฏิบัติงานของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และระดับกองทัพต่างๆ

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบและร่วมกันให้ข้อเสนอจากหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ที่ต้องการให้หน่วยงานส่วนกลางดำเนินการในเชิงนโยบายทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น