หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; ศจย.นำเสนอกฎหมายการควบคุมยาสูบโลก เพื่อสังคมไทยไร้ควันบุหรี่

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จัดให้มีการประชุม บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ขึ้น ซึ่งประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้ เน้นถึง กฏหมายการควบคุมยาสูบโลก (FCTC)  เพื่อสังคมไทยไร้ควันบุหรี่

โดย ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประเทศไทย ปี พ.ศ.2552 พบว่าประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ 10.90 ล้านคน (ร้อยละ 20.70) อัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายร้อยละ 40.47 เพศหญิงร้อยละ 2 โดยจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 10.86 ล้านคน (ร้อยละ 21.22) เป็น 10.90 ล้านคน (ร้อยละ 20.70) ระหว่างปี พ.ศ.2550 ถึงปี พ.ศ.2552  (อัตราการสูบบุหรี่ในภาพรวม) ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ในภาพรวมยังไม่ค่อยเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นคือกลุ่มอายุ 15-18 ปี อยู่ที่ร้อยละ 7.62 และกลุ่มอายุ 19-24 ปีอยู่ที่ร้อยละ 22.19 และน่าสังเกตว่าอัตราการสูบบุหรี่ในเพศหญิงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี พ.ศ.2552 เป็นร้อยละ 2 จากที่เคยลดลงต่ำสุดในปี พ.ศ.2550 ที่ร้อยละ 1.94 ซึ่งการควบคุมยาสูบของประเทศไทยที่ผ่านมาได้ผลในเขตเทศบาลมากกว่านอกเขตเทศบาล และได้ผลดีในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ตามลำดับ ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับมาตรการที่มีผลนอกเขตเทศบาลด้วย และมุ่งแก้ปัญหาระดับพื้นที่ในภาคใต้และภาคอีสานให้มากขี้น โดยเจาะจงวัยรุ่นเพศชาย ส่วนในวัยรุ่นเพศหญิงให้เจาะจงพื้นที่ กทม. ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่สูงขึ้นในกลุ่มอายุ 15-18 ปี จาก 737 คน เป็น 3,235 คน (ระหว่างปี พ.ศ.2550 ถึงปี พ.ศ.2552) และกลุ่มอายุ 19-24 ปี จาก 1,350 คน เป็น 2,124 คน (ระหว่างปี พ.ศ.2550 ถึงปี พ.ศ.2552)

ในขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาของคณะทำงานภาระโรคและการบาดเจ็บที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง กระทรวงสาธารณะสุข พบว่า มีคนไทย 48,244 คนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2552 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2547 ที่มี 41,183 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 40,995 คนและเพศหญิง 7,249 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่นี้ 29.45% หรือ 14,204 คนเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี เมื่อเทียบสัดส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กับจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดซึ่งเท่ากับ 415,900 คนของปี พ.ศ.2552 จะเท่ากับ 1: 8.6 หรือในทุก 8.6 คนไทยที่เสียชีวิต หนึ่งคนจะมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ โดยหากคิดแยกตามเพศ เพศชายสัดส่วน 1 : 5.7 และเพศหญิง 1 : 2.4 และหากรวมจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จากการวิเคราะห์ครั้งแรกที่พบว่ามีจำนวน 41,000 คนในปี พ.ศ.2536 จนถึงการศึกษาล่าสุดปี พ.ศ.2552 เป็นระยะเวลา 16 ปี จะมีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กว่า 640,000 คน ทั้งนี้จำนวนคนไทยเสียชีวิตยังไม่นับรวมผู้ที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการวิจัยสำหรับประเทศไทย

ด้าน นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้จัดการประชุมร่างกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ หรือ กฎหมายการควบคุมยาสูบโลก (FCTC) ขึ้นมา โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 จนสำเร็จเมื่อกุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งความสัมฤทธิผลของกรอบอนุสัญญาฯ นี้เป็นคุณูปการต่อการควบคุมยาสูบโลก สรุปได้ ดังนี้

1) มาตรา 11 คำเตือนเรื่องสุขภาพบนหีบห่อ โดย 19 ประเทศ ซึ่งประชากรรวม 1 พันล้านคน มีกฎหมายระดับสูงสุดที่กำหนดให้มีคำเตือนบนซองบุหรี่ 2) มาตรา 12 การให้ความรู้, การติดต่อสื่อสาร, การฝึกอบรม โดย 23 ประเทศซึ่งมีประชากรรวม 1.9 พันล้านคน มีการรณรงค์อันเข้มแข็งทางสื่อมวลชน 3) มาตรา 8 การปกป้องประชาชนให้พ้นภัยจากพิษควันบุหรี่ โดยระหว่างปี 2551 ถึง 2553 ได้มี 16 ประเทศใหม่ที่ได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เป็นผลให้มี 31 ประเทศที่มีกฎหมายนี้แล้วประชาชนมากกว่า 739 ล้านคนหรือ 11% ของประชากรโลกได้รับการปกป้องให้พ้นจากภัยนี้ และ 4) มาตรา 13 การห้ามโฆษณา, การส่งเสริมและการอุปถัมภ์ โดยประชาชน 425 ล้านคนใน 19 ประเทศซึ่งประกอบเป็น 6% ของประชากรโลกได้รับการปกป้องจากกลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ

สุดท้าย ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  กล่าวถึงหลายประเทศที่มีการนำหลักการตามคำแนะนำของของอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) ไปออกกฎกติกาภายในประเทศ แต่มักได้รับการโต้แย้งคัดค้านจากธุรกิจยาสูบทั้งภายในประเทศและบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ สิ่งที่มักจะถูกยกขึ้นมาอ้างจากธุรกิจยาสูบข้ามชาติ เพื่อให้รัฐผ่อนปรนนโยบายการควบคุมยาสูบที่จะมีขึ้นใหม่ คือเงื่อนไขในข้อตกลงทางการค้า เช่น ข้อตกลงคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน โดยเฉพาะการให้สิทธิ์ผู้ลงทุนแต่ละรายสามารถฟ้องร้องประเทศที่ผูกพันในข้อตกลงนั้นๆได้ ที่มีอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีบางกลุ่มประเทศเช่น NAFTA และข้อตกลงทวิภาคีของบางประเทศเช่น ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์และอุรุกวัย หรือความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศออสเตรเลียและฮ่องกง เป็นต้น โดยการให้สิทธิ์ทางการค้ากับผู้ลงทุน ในข้อตกลงทางการค้าใดๆ ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียและขัดขวางการควบคุมยาสูบของแต่ละประเทศ รวมไปถึงสุขภาพของประชากรก็จะได้รับการคุ้มครองน้อยลง ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏในประเทศไทยคือ หลังจากได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งมีผลให้ลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละศูนย์แล้ว อัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเช่น กลุ่มอายุ 19-24 ปีเพิ่มจากร้อยละ 19.66 ในปีพ.ศ.2549 เป็นร้อยละ 22.19 ในปีพ.ศ.2552 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 140,000 คน

ผู้สนใจต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ผู้ประสานงาน คุณหริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศจย.) โทรศัพท์ 0-2354-5346, 0-89662-7917 โทรสาร 0-2354-5347 E-mail: beer_manububu@windowslive.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น