หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; เปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2554

จังหวัดเชียงใหม่ทำพิธีเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2554 พร้อมกิจกรรมต่อเนื่องระหว่าง 9-16 กรกฎาคม 2554

หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2554 ณ พุทธสถานเชียงใหม่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์เผยแผ่ธรรมจังหวัดเชียงใหม่ พุทธสมาคมจังหวัดเชียงใหม่ ยุวพุทธิกสมาคมเชียงใหม่ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และองค์กรทางพระพุทธศาสนา กำหนดจัดขึ้นระหว่าง 9-16 กรกฎาคม 2554 ภายใต้หลัก 3 ประการคือ การละเว้นจากการทำความชั่วทุกอย่าง มุ่งทำแต่ความดีตามหลักอริยมรรค 8 และทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์

สำหรับกิจกรรมสำคัญภายในงานตามลำดับประกอบด้วย การแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ ชิงโล่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2554 จากนั้นจะมีการแข่งขันซอพื้นเมืองระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 เวลา 12.30 น. ณ วัดฝายหิน พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะและหล่อเทียนพรรษาของนักเรียน ในวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2554 ณ พุทธสถานเชียงใหม่ เพื่อให้บรรดานักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และศรัทธาสาธุชน นำเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนไปถวายตามวัดต่างๆ ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 สำหรับวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 พุทธศาสนิกชนจะร่วมกันทำบุญตักบาตร สมาทานศีล ประกอบพิธีฟังเทศน์และเวียนเทียน ณ วัดที่กำหนดคือ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และวัดศรีโสดาพระอารามหลวง รวมทั้งวัดใกล้บ้านที่แต่ละคนสะดวก นอกจากนั้น คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มหนุ่มสาวจังหวัดเชียงใหม่ และองค์กรภาครัฐภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดจัดกิจกรรมธรรมะสัญจร “รถด่วนขบวนพิเศษ” ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษาด้วย


วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แสดงพระปฐมเทศนา หรือการแสดงพระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ 2 เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของพระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี ในวันเพ็ญ ขึ้น 15ค่ำ เดือน 8 ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ซึ่งการแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก



คำว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า สูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป มีความโดยย่อว่า ที่สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้นเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ  และตั้งใจชอบ



ส่วนอริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่ ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ 5 เป็นทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตมั่นชอบ



ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่านี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้  และพระองค์ได้กำหนดรู้แล้ว นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง  และพระองค์ ได้ทำให้แจ้งแล้ว นี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ และพระองค์ ได้เจริญแล้ว



สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 มีรอบ 3 มีอาการ 12 คือ ขั้นแรกรู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบคือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญาว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3 มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้



วันอาสาฬหบูชา มีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการคือเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทาในวันนั้น และ เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์



ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันมาน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุได้แก่พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในวันวิสาขบูชา การแสดงธรรมในวันนี้จะเทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกันน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยศึกษา พระธรรมวินัยอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงทางแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นต่อไปชั่วกาลนาน



สำหรับวันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงกลางเดือน 11 วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ 2 วันคือ วันเข้าปุริมพรรษา คือเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน 11 วันเข้าปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 12 เมื่อเข้าพรรษาแล้วหากภิกษุมีกิจธุระจำเป็น อันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน 7 วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้

            1.เมื่อทายกทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้

            2.ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้

            3.ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้

            4.พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้

            5.เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้

            6.เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้

            7.เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้

            8.ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้

            9.หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้



วันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ หรือว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ แปลว่าข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้  (ว่า 3 ครั้ง) หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้วก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ



ตามประวัติชาวไทยได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษามาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้งพิธีหลวง และพิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำเทียนจำนำพรรษาเพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการแห่เทียนไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย



สำหรับการปฏิบัติอื่นๆ ก็จะมีการถวายผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธาและขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง



(ข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์ www1.mod.go.th เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น