หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; “บุญคิด วัชรศาสตร์” ครูภูมิปัญญาไทย ด้านภาษา และวรรณกรรม ถึงแก่กรรม

ปราชญ์ลานนา บุญคิด วัชรศาสตร์ ครูภูมิปัญญาไทย ด้านภาษา และวรรณกรรม เจ้าของผลงานด้านศาสนาและวัฒนธรรมหลากหลาย ต้นเค้าแห่งธรรมมาลัยโผด แปลใบลานลงสู่หนังสือ สวดมนต์เมืองเหนือ แต่งตำราเรียนภาษาพื้นเมือง เผชิญปัญหาสุขภาพรุมเร้าชิงฆ่าตัวตายด้วยวัย 76 ปี ท่ามกลางความอาลัยของศิษย์ รวมถึงคณะสงฆ์ ถือเป็นบุคคลในวงการศาสนาหาได้ยาก

ข่าวเศร้าในวงการพุทธศาสนา และวัฒนธรรมพื้นเมือง เปิดเผยเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม 2554 นางลำดวน วัชรศาสตร์ อยู่บ้านเลขที่ 73/18 ซ.4 ง. ต.ศรีภูมิ  อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์แจ้ง พ.ต.อ.มณฑล ปัญญายงค์ ผกก.สภ.ช้างเผือกว่า นายบุญคิด วัชรศาสตร์ อายุ 76 ปีสามีเสียชีวิตอยู่ในบ้านดังกล่าว โดยมีเชือกรัดที่คอ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรุดไปบ้านที่เกิดเหตุ ตรวจสอบสภาพศพและนำส่งนิติเวช โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เพื่อชันสูตร เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเสียชีวิตจากการผูกคอตาย เสียชีวิตมาแล้วประมาณ 1 ชม. สอบสวนทราบว่าปกติตอนหัวค่ำ นายบุญคิดออกจากบ้านเดินไปรอบชุมชนใกล้เคียงเพื่อออกกำลังกาย วันดังกล่าวกลับจากเดินออกกำลังกายแล้ว กลับขึ้นไปบนบ้านและกลายเป็นศพดังกล่าว โดยที่ในบ้านไม่มีใครอยู่ เนื่องจากครอบครัวทำธุรกิจโรงพิมพ์ธาราทองอยู่ย่านประตูท่าแพ

ต่อมาเมื่อสายวันที่ 3 พฤษภาคม ที่โรงพิมพ์ธาราทอง ถ.ราชดำเนิน(ใกล้ประตูท่าแพ) ผู้สื่อข่าวสอบถามพนักงานในโรงพิมพ์ทราบว่า นางลำดวน ภรรยา และนางเยาวเรศ วัชรศาสตร์ บุตรสาวนายบุญคิด กำลังอยู่ในระหว่างโศกเศร้าเสียใจ พนักงานจึงหารือถึงการจัดงานศพ โดยได้ประสานกับ รศ.พิเศษ ถาวร เสาร์ศรีจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก(พระอารามหลวง) และนายกสมาคมสหธรรมเชียงใหม่ เพื่อตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดสวนดอก ซึ่งต่อมาเวลา 12.00 น.ญาติได้นำศพออกจากโรงพยาบาลมาตั้งไว้ที่ศาลาบำเพ็ญกุศลวัดสวนดอก โดยมีพิธีรดน้ำศพเวลา 15.00 น.วันเดียวกัน

รศ.พิเศษถาวร เสาร์ศรีจันทร์ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งข่าวเศร้านี้ตั้งแต่เมื่อคืนวันจันทร์ ว่าอาจารย์บุญคิดอัตตวินิบาตกรรมตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจ และเสียดายบุคลากรที่มีคุณค่าทั้งด้านศาสนา และวัฒนธรรม ส่วนสาเหตุจะมาจากเรื่องใดนั้น ทราบเพียงว่าอาจารย์บุญคิดมีปัญหาสุขภาพ แม้ว่าจะออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ก็กังวลกับโรคภัยไข้เจ็บเคยบ่นให้ฟังอยู่เหมือนกัน และก่อนจากไปเพียงวันเดียวก็โทรศัพท์คุยกัน โดยไม่มีทีท่าว่าจะตัดสินใจเช่นนี้ แต่ยอมรับว่าระยะหลังอาจารย์บุญคิดไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับสมาคม รวมทั้งไม่ได้ไปประชุมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัด เข้าใจว่าปัญหามาจากเรื่องสุขภาพ อย่างไรก็ตามศพนายบุญคิด วัชรศาสตร์ จะตั้งบำเพ็ญกุศลตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคมทุกคืนมีแสดงพระธรรมเทศนา และสวดอภิธรรม วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคมฌาปนกิจศพ ณ สุสานสันกู่เหล็ก

สำหรับประวัตินายบุญคิด วัชรศาสตร์ อายุ 76 ปี เกิดวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ต.เหมืองจี้ อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นบุตรของนายบุญทานางหม่อม หมอศาสตร์ สมรสกับนางสาวลำดวน (นามสกุลเดิมคือ แดงชมภู) มีบุตรหญิง 1 คน หลานสาว 1 คน นายบุญคิด ได้รับการยกย่องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษา และวรรณกรรมล้านนา มีผลงานเผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นจำนวนมาก เป็นที่ยอมรับทั้งในแง่วิชาการด้านภาษาวรรณกรรม มีความรอบรู้ด้านประเพณี พิธีกรรมและชาดกในพุทธศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง เป็นผู้สืบสาน อนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทั้งการแปลธรรมะจากใบลานมาลงพิมพ์ในหนังสือเหมือนใบลานให้พระสงฆ์เทศนานับร้อยเรื่อง เช่น พุทธสังคหะโลก ไชยสังคหะ แสดงในงานขึ้นบ้านใหม่ ธรรมะมาลัยโผดโลก นิพพานสูตร ใช้แสดงในงานศพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แต่งตำราเรียนภาษาพื้นเมืองเหนือ อู้กำเมือง สวดมนต์เมืองเหนือ นิทานเก้ากอง ไก่น้อยดาววี ฯลฯ นับเป็นปราชญ์ล้านนาอีกคนหนึ่งเทียบชั้น ศ.เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ ปรมาจารย์ด้านนี้ซึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อปีที่แล้ว
  
พื้นเพเดิม นายบุญคิดเกิดในครอบครัวชาวนา เป็นบุตรคนโต ช่วยทำงานบ้าน พอจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พ.ศ. 2493 ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดปงชัย บวชเรียนอักขระภาษาตัวเมืองล้านนา อ่านออกและเขียนได้ดี และศึกษาทางธรรม จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 4 ประโยค สำนักเรียนคณะสงฆ์จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2500 เป็นครูสอนปริยัติธรรม และบาลีหลายปี จึงลาสิกขาออกมาประกอบอาชีพธุรกิจโรงพิมพ์ธาราทอง ต่อมาเป็นวิทยากรลูกเสือชาวบ้าน ได้รับเลือกเป็นเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่หลายสมัย พ.ศ.2536 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติ และโล่รางวัลผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นด้านภาษา และวรรณกรรม จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. 2542 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ และ พ.ศ.2545 ได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านภาษาและวรรณกรรม จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

(ข่าวโดย บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น