หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ Prince Akishino แห่งประเทศญี่ปุ่น

 
ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีมติเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แด่เจ้าชายอะกิชิโนะ (Prince Akishino) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติอันสูงสุดแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แด่เจ้าชายอะกิชิโนะ (Prince Akishino) แห่งประเทศญี่ปุ่น ขึ้นอย่างสมพระเกียรติ เมื่อวันพุธที่ 9  มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อาวุธ ศรีศุกรี อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ กรรมการสภามหาวิยาลัยเชียงใหม่ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธี

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อาวุธ ศรีศุกรี อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กราบทูลสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่เสด็จมารับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาบัตรว่า รู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ใต้ฝ่าพระบาทได้เสด็จมารับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นับเป็นสิริมงคลแก่คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ ตลอดจนผู้เข้าร่วมในพิธี และขอให้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพระราชวงศ์ทั้งสอง  จงเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพอันถาวรระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวไทยสืบไป

จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กราบทูลสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณเจ้าชายอะกิชิโนะ ว่า ด้วยเป็นที่ประจักษ์ทั่วกันว่า ใต้ฝ่าพระบาททรงมีพระปรีชาสามารถ พระวิริยภาพ และพระอัจฉริยภาพในด้านปักษีวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และด้านมีนวิทยา ซึ่งทรงมีผลงานเป็นที่ยอมรับของนักมีนวิทยาทั่วโลก  โดยเฉพาะงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบที่ต้องอาศัยข้อมูลทางสรีรวิทยาและข้อมูลทางพันธุกรรม และทรงมีผลงานวิจัยถึงความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความหมายของการศึกษาที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งของสังคม นับเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติเป็นอย่างมาก อีกทั้งเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ดำเนินมาครบ 120 ปี เมื่อปี พ.ศ.2550 ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นจึงถือเป็น “120 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น”  สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แด่ใต้ฝ่าพระบาท เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณและเพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติอันสูงสุดแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สืบไป

เมื่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กราบทูลสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณฯ แล้ว อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แด่เจ้าชายอะกิชิโนะ กราบทูลแสดงความยินดีและทูลเชิญดื่มถวายพระพร จากนั้น เจ้าชายอะกิชิโนะ ทรงฉายพระรูปร่วมกับอุปนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ อธิการบดี กรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแขกผู้มีเกียรติ พร้อมทั้งทรงมีพระปฏิสันถารกับแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมพิธีในวันดังกล่าว

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว เจ้าชายอะกิชิโนะ ได้เสด็จไปยังศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทรงรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับกิจกรรมของศูนย์ญี่ปุ่นศึกษาและการสอนภาษาญี่ปุ่น โดยมี อ.สรัญญา คงจิตต์ ประธานศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา และ ดร.เซ็นโจ นาไค รองประธานศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา เป็นผู้บรรยายสรุป หลังจากนั้น ทรงฉายพระรูปร่วมกับผู้บริหารคณะมนุษยศาสตร์ และทรงมีพระปฏิสันถารกับชาวไทย-ชาวญี่ปุ่น ที่รอรับเสด็จด้านหน้าศูนย์ญี่ปุ่นศึกษาอย่างเป็นกันเอง ก่อนจะเสด็จยังเชียงใหม่ ซู อควาเรียม ณ สวนสัตว์เชียงใหม่ต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น