หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

คิดเป็นตัว (หนังสือ) ; ใครรู้จักบ้าง ธงฉัพพัณณรังสี

ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; ถ้าจะกล่าวถึงธงทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการที่ใช้กันในประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น มีกำเนิดมาจากมติที่ประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ครั้งที่ 1 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยการนำของท่านศาสตราจารย์ พระคุณาปาละ มาลาลาเสเขร่า ซึ่งมีมติให้ใช้ธงทางพระพุทธศาสนา 2 อย่าง คือ ธงฉัพพัณณรังสี และ ธงธรรมจักร


ที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้คือ ธงฉัพพัณณรังสี ตามหัวขhอเรื่องที่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากหลายท่านอาจจะยังไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก หรือเคยเห็นแต่อาจจะไม่รู้จัก ส่วนธงธรรมจักรนั้จะกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยก็แล้วกัน เพราะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว ประเดี๋ยวจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนซะ


ก่อนที่จะมีการใช้อย่างเป็นทางการหลังมติที่ประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์โลก เมื่อปี 2493 นั้น ธงฉัพพัณณรังสี เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันวิสาขบูชา ประจำปี พ.ศ. 2428 ที่วัดทีปดุดด้ารามายา เขต โกต้าเชน่า เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยท่านมีเขตตุวัตเต คุณนันทะ นายกเถระเป็นผู้ประดับธง ซึ่งมีพระมหาเถระและบุคคลสำคัญหลายท่านได้ระดมความคิดในการออกแบบประกอบด้วย ท่านพระหิกทุเว สิริ สุมังคละ ท่านพระมีเขตตุวัตเต คุณนันทะ มหานายกเถระ พันเอก เฮนรี่ สตีล ออลคอตต์ ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ นาย ปูชิตา คุณาวารเทนะ นาง ซี พี และคุณาวารเทนะ


ธงฉัพพัณณรังษี (อ่านออกเสียงไม่ยากว่า ธง ฉับ พัน นะ รัง สี) เป็นธงพระพุทธศาสนาที่ใช้กันในประเทศต่างๆ และเป็นอันรู้ทั่วไปว่า เมื่อใดก็ตามที่ใดมีการประดับธงนี้ ที่นั้นคือสถานที่ของพระพุทธศาสนา ธงฉัพพัณณรังสี ประกอบไปด้วย 6 สี คือ น้ำเงิน เหลืองทอง แดง ขาว แสด และสีที่ 6 เป็นการรวมกันของสีทั้ง 5 เป็นสีแก้วผลึก หรือสีเลื่อมประภัสสร คำว่า “ฉัพพัณณรังษี” แปลว่า รัศมีแห่งสีทั้ง 6 ซึ่งเป็นสีที่แผ่ออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า โดยให้ใช้ธงฉัพพัณณรังษีเป็นธงทางพระพุทธศาสนา ธงนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ชาวไทยแม้เป็นชาวพุทธเองก็ตาม


สำหรับที่จังหวัดเชียงใหม่ เท่าที่ทราบและเคยเห็นปรากฏ ธงฉัพพัณณรังสี มีประดับอยู่ที่วัดชัยศรีภูมิ หรือชื่อเดิมวัดพันตาเกิ๋น ถนนวิชยานนท์ ต.ช้างม่อย อ.เมืองเชียงใหม่ ตรงบริเวณแจ่งศรีภูมิด้านนอกคูเมือง ซึ่งมีผู้รู้บอกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินผ่านเห็นธงฉัพพัณณรังสีก็รู้ทันทีว่านี่เป็นสถานที่ทางพระพุทธศาสนา ส่วนวัดอื่นบางครั้งนักท่องเที่ยวไม่รู้หรือไม่แน่ใจ คิดว่าเป็นสถานที่หรือสิ่งปลูกสร้างทางศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น


จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธในจังหวัดเชียงใหม่หรือประเทศไทย จะต้องมาช่วยกันออกความคิดเห็นแล้วว่า เราจะประดับธงฉัพพัณณรังสีไว้ตามวัดวาอารามหรือศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาเพื่อให้มีความเป็นสากลที่รู้กันทั่วโลก หรือจะคิดว่า ใครจะรู้ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร เราก็อยู่ของเราอย่างนี้ได้ ก็ไม่ว่ากัน


ส่วนธงธรรมจักร (อ่านว่า ธง ทำ มะ จัก) ก็เป็นมติที่ประชุมคราวเดียวกันนั้นเห็นชอบให้เพิ่มธงธรรมจักร เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาระหว่างนานาชาติ เป็นธงสีเหลือง มีรูปธรรมจักร คือรูปวงล้อ มี 8 ซี่ อยู่กลาง อันหมายถึงมรรค 8 ซึ่งเป็นหนทางดำเนินไปสู่เป้าหมายของพระพุทธศาสนา ธงธรรมจักรนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธ แม้ศาสนิกชนอื่นก็เป็นที่รู้กันว่าหากมีการประดับธงธรรมจักรไว้ ณ ที่ใด ที่นั้นย่อมเป็นสถานที่ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันนี้ หลายประเทศต่างใช้ธงฉัพพัณณรังษีเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ในขณะที่ประเทศไทยนิยมใช้ธงธรรมจักรมากกว่า ฉะนั้น เมื่อท่านเดินทางไปต่างประเทศ เห็นธงธรรมจักรประดับอยู่สถานที่ใด ก็เป็นอันเข้าใจได้ทันทีเลยว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น