หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ; เปิด สนง.อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 เชียงใหม่ และสัมมนาการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อทรัพยากรแร่


ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเปิดที่ทำการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 เชียงใหม่ และเปิดการสัมมนาการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อทรัพยากรแร่และการทำเหมืองแร่ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550


นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดที่ทำการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 เชียงใหม่ ณ เลขที่ 18 ถนนเชียงใหม่ ลำปาง ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน โดยมีภารกิจให้บริการทางวิชาการของอุตสาหกรรมแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ส่งเสริม พัฒนา กำกับดูแลงานด้านธรณีวิทยาแหล่งแร่ วิศวกรรมเหมืองแร่ โลหกรรม เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม และงานด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการเหมืองแร่และเหมืองหินอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ 142 ราย


หลังจากนั้น นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อทรัพยากรแร่และการทำเหมืองแร่ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นการทำความเข้าใจกับประชาชน ในการสร้างความเข้มแข็งด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมอื่น ให้เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ที่ยั่งยืน ภายใต้ความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักเป็นอย่างดีว่า บทบาทภารกิจการบริหารจัดการด้านแร่ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาค จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการกำกับดูแลและเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญการบังคับใช้กฎหมายในเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม และต่อเนืองตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ทั้งในและนอกกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคเอกชนเพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติให้มากที่สุด นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างความความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างความรู้สึกและความตระหนักในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ได้รับหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการประกอบการ


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวด้วยว่า ในการขออนุญาต ขอต่อใบอนุญาตหรือขอประทานบัตรเหมืองแร่ทุกครั้งในขณะนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า และไม่สร้างปัญหากับสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ดำเนินการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น และผู้ประกอบการในด้านการจัดการทรัพยากรแร่และสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเครือข่ายภาคประชาชนทั้งสิ้น 220 เครือข่าย ใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมแก่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้มีความรักผิดชอบต่อสังคม โดยกำหนดเป็นมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ (CSR DPIM) ควบคู่ไปพร้อมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น