หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ข่าว ; กรมอนามัยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับบุคลากรระดับเทศบาล

ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ระดับเทศบาล) จำนวน 300 แห่งทั่วประเทศ ต่อยอดจากปี 2553

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ระดับเทศบาล) ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสองที่ระบุว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน


ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาล นับว่ามีบทบาทหน้าที่สำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายสาธารณะ ตลอดจนแผนงานโครงการพัฒนาที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพ โดยผ่านช่องทางการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการต่าง ๆ ในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาจเกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการและการประกอบกิจการ รวมทั้งคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพอนามัยดีและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้สำหรับคุ้มครองและส่งเสริมสุขภาพของประชาชน จากนโยบาย แผนงาน การดำเนินโครงการพัฒนา รวมทั้งกิจกรรมทั้งของภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังช่วยค้นหาแนวทางในการป้องกันผลกระทบที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ช่วยเสริมสร้างและกำหนดทิศทางการมีสุขภาพที่ดี ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเทศบาล ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 2,016 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่กรมอนามัยต้องเข้าไปพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

และจากการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรมอนามัยกับเทศบาลที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่คือ การประกอบกิจการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 5/2538 ออกตามความในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งหากบุคลากรระดับท้องถิ่น มีความรู้ ความเข้าใจ ถึงปัญหาและ หาแนวทางแก้ไขได้ตั้งแต่ระดับพื้นที่แล้ว ปัญหาโดยรวมก็จะลดลง ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2553 กรมอนามัยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ระดับเทศบาล) แล้วจำนวน 798 แห่ง ซึ่งโครงการพัฒนาศักยภาพ ดังกล่าว เป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกรมอนามัย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
อธิบดีกรมอนามัยกล่าวด้วยว่า ภายหลังการอบรมในปี 2553 ได้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ระดับเทศบาล) บางแห่ง นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ดำเนินงานโครงการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ตลอดจนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการประเมินกิจกรรม/โครงการพัฒนาในท้องถิ่นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยกรมอนามัยได้ดำเนินการพัฒนาแนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในหลายกิจกรรม/โครงการ เช่น แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับกิจการหอพัก โรงไฟฟ้าชีวมวล ฟาร์มสุกร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น ซึ่งกรมอนามัยได้นำองค์ความรู้ที่ได้ เข้าไปบรรจุอยู่ในหลักสูตรการอบรมท้องถิ่นในปีงบประมาณ 2554 นี้ด้วยแล้ว

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวอีกว่า ในปี 2554 นี้ กรมอนามัยตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการอบรมให้ความรู้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ระดับเทศบาล) จำนวน 300 แห่ง ทั่วประเทศ โดยเริ่มดำเนินการในภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2554 ครั้งที่ 2 จัดอบรมภาคกลาง ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 2-4 มีนาคม 2554 และครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2554


"คาดว่าการอบรมทั้ง 3 ครั้ง จะช่วยให้บุคลากรท้องถิ่นมีความรู้ ความเข้าใจที่พร้อมต่อการดำเนินงานด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ สามารถรองรับต่อการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง อันจะช่วยลดความขัดแย้งในชุมชน ทั้งเรื่องกิจกรรมหรือโครงการด้านการพัฒนา กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพประชาชนให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น