หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ข่าว ; ผลงานในรอบปีของศูนย์การศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ช้างไท ยและศาสตร์วัฒนธรรมช้างไทยอย่างยั่งยืน



ศูนย์ข่าวจิ๊บจิ๊บ ; ศูนย์การศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ช้างไทยและศาสตร์วัฒนธรรมช้างไทยอย่างยั่งยืน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้แจงผลการดำเนินงานหลังจากก่อตั้งมาเป็นเวลา 1 ปี เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา

ผศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าโครงการศูนย์การศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ช้างไทยและศาสตร์วัฒนธรรมช้างไทยอย่างยั่งยืน เปิดเผยถึงโครงการศูนย์การศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ช้างไทยและศาสตร์วัฒนธรรมช้างไทยอย่างยั่งยืนว่า เป็นโครงการภายใต้ความดูแลของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 โดยได้รับงบประมาณแผ่นดินจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจากศูนย์การศึกษาและวิจัยช้างไทยฯ ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการ การวิจัยและการพัฒนา รวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลช้างไทย ทั้งทางด้านสุขภาพ การจัดการ การผสมพันธุ์ การอนุรักษ์ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลศาสตร์และวัฒนธรรมของช้างไทยที่กำลังจะสูญหายไป ให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงให้แก่สถาบัน จังหวัด และประเทศชาติ เนื่องจากช้างถือว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นสัตว์ประจำชาติไทย

ผศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม กล่าวว่า ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ศูนย์การศึกษาและวิจัยช้างไทยฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ไปแล้วหลายกิจกรรม อาทิ การบริการด้านสุขภาพแก่ช้างเลี้ยงในเขตจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง การส่งเสริมการเพิ่มจำนวนประชากรช้างโดยการให้คำปรึกษาด้านการผสมพันธุ์  รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพน้ำเชื้อช้างเพศผู้ และการตรวจวงรอบการเป็นสัดและการตรวจท้องในช้างเพศเมีย นอกจากนี้ยังได้เริ่มทำการเก็บข้อมูลพันธุกรรมของช้างเลี้ยงในปางช้างต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลการจัดการประชากรช้างต่อไปในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันทางศูนย์การศึกษาและวิจัยช้างไทยฯ มีตัวอย่างสารพันธุกรรมของช้างในจังหวัดเชียงใหม่แล้วกว่า 300 เชือก โดยโครงการดังกล่าวได้ทำงานร่วมมือกับทางคณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

อีกหนึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ การจัดอบรมผู้ช่วยดูแลสุขภาพช้าง ให้แก่ตัวแทนจากปางช้างต่าง ๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกปฏิบัติตัวแทนบุคคลากรภายในปางช้างให้ทำการดูแลรักษาช้างเบื้องต้นได้อย่างถูกวิธี อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายในการปฏิบัติงานต่อไปในอนาคต จากการฝึกอบรมครั้งนี้มีผู้สนใจมากกว่า 30 คน และได้รับเกียรติจากนายอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีปางช้างมากที่สุดในประเทศไทย มาเป็นประธานในพิธี

นอกจากการให้บริการ ศึกษาและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ทางศูนย์การศึกษาและวิจัยช้างไทยฯ ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะวิจิตรศิลป์ และศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ในการศึกษาวิจัย รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศาสตร์ และวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างในเขตภาคเหนือ ซึ่งมีการวางแผนว่าจะทำการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ในอนาคตทางศูนย์การศึกษาและวิจัยช้างไทยฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการวางแผนที่จะเพิ่มการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับช้างให้เพิ่มหลากหลายมิติมากขึ้น ทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม กับหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น



หัวหน้าโครงการศูนย์การศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ช้างไทยและศาสตร์วัฒนธรรมช้างไทยอย่างยั่งยืนกล่าวในตอนท้ายว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานหนึ่งปีที่ผ่านมา ศูนย์การศึกษาและวิจัยช้างไทยฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งทางศูนย์การศึกษาและวิจัยช้างไทยฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความซาบซึ้งและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดีเหล่านี้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น